ความสำคัญของ Logistics ไม่ใช่แค่การส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค แต่ยังหมายถึงการนำข้อมูลการขนส่งมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนทางธุรกิจ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ หากองค์กรใดนำ Logistics Technology เข้ามาช่วยแล้วจะเกิดประสิทธิภาพเหนือคู่แข่ง วันนี้ทีมงานมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณเมธัช อุดมมหันติสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกายฟร็อก จำกัด ซึ่งจะช่วยอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับ Logistics Tech ให้พวกเราเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
Skyfrog ผู้เชี่ยวชาญด้าน Logistics Tech
สำหรับ บริษัท สกายฟร็อก จำกัด ถือเป็นผู้ชำนาญด้านเทคโนโลยีและการพัฒนา Software สำหรับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการขนส่งกระจายสินค้า และ Logistics ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท นอกจากประสบการณ์ร่วม 20 ปี มีลูกค้ากว่า 100 องค์กรทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ แล้ว ยังเป็นบริษัทลูกของ Terabyte Plus Plc. (TERA) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) อีกด้วย
Logistics solutions ที่ถือเป็นจุดแข็ง เนื่องจาก Skyfrog พัฒนาขึ้นมาเอง คือ TMS (Transportation Management System) ระบบบริหารจัดการการขนส่ง ให้บริการในหลากหลายธุรกิจ ได้แก่
1. กลุ่ม 3PL (Third-party logistics provider) คือ ผู้ให้บริการขนส่งที่เป็นตัวกลาง รับขนส่งสินค้าให้บริษัทต่าง ๆ
2. กลุ่ม FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) คือ กลุ่มบริษัทอาหาร เครื่องดื่ม ที่ต้องขนส่งอย่างรววดเร็ว
3. กลุ่มอุตสาหกรรม
4. Retail Trading หรือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก
5. ประกันภัย ในส่วนของพนักงานส่งเอกสาร วางบิล
6. โรงพยาบาล ได้แก่ รถรับส่งผู้ป่วย
7. รถบริการรับส่งผู้บริหาร
Logistics ทำงานอย่างไร?
ก่อนลงรายละเอียดลึก ๆ เกี่ยวกับ Logistics Tech คุณเมธัช ชวนมองกระบวนการทำงานของ Logistics ว่า Logistics คือ การเคลื่อนที่ของสินค้าจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง พร้อมยกตัวอย่างการส่งสินค้ามาจากประเทศจีน โดยจีนจะโหลดสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นเรือ > เรือจากจีนจะมาเทียบท่าเรือแหลมฉบังที่ไทย > ตู้คอนเทนเนอร์จะถูกส่งไปเก็บยังโกดังของท่าเรือ > บริษัทโลจิสติกส์ต่าง ๆ ส่งรถบรรทุกมารับสินค้าไปยังคลังสินค้า เพื่อรอกระจายไปส่งลูกค้า > เมื่อเดินทางถึงคลังสินค้า ก็ทำการจัดเก็บให้ตรงหมวดหมู่ > เมื่อลูกค้าสั่งสินค้า ก็นำสินค้านั้น ๆ ขึ้นรถ เพื่อส่งให้ถึงจุดหมายปลายทางอีกที นี่คือภาพรวมเบื้องต้นของ Logistics
Logistics Technology มีอะไรบ้าง
แม้กลุ่มธุรกิจที่ใช้บริการ Logistics Technology ค่อนข้างหลากหลาย แต่คุณเมธัช สรุปประเภท Logistics solutions ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. WMS ย่อมาจาก Warehouse Management System โปรแกรมบริหารคลังสินค้า ตัวอย่างการทำงาน คือ เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้บริหารจัดการของจากตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อมาลงที่คลังสินค้าแล้ว ควรจะเก็บที่ shelf หมายเลขอะไร สินค้าที่ขายคล่องซื้อง่ายเก็บที่ shelf ใด สินค้าที่ขายได้ช้าหน่อยเก็บที่ shelf ใด สินค้าประเภทใดที่ควรเก็บโดยแรงงานคน สินค้าใดควรใช้ Robot วิ่งไปเก็บ ถึงเวลาเรียกเบิก สินค้าใดต้องหยิบออกมาก่อน สินค้าใดควรหยิบออกมาทีหลัง เป็นต้น
2. TMS ย่อมาจาก Transportation Management System ประเภทนี้ต่อเนื่องจาก WMS คุณเมธัช อธิบายว่า “พอมีคำสั่งจากลูกค้า พนักงานไปหยิบของตามนั้นแล้ว ของต้องยกขึ้นรถ โซลูชั่น TMS ก็จะมาช่วยวางแผนว่า รถแต่ละคันต้องวิ่งเส้นทางไหน ต้องไปส่งที่ไหนก่อน ที่ไหนหลัง แต่ละที่มีเวลานัดหมายกับลูกค้าต่างกัน ดังนั้นต้องไปส่งให้ทันเวลาที่นัดหมายไว้ แล้วของที่เอาขึ้นบนรถแต่ละคันต้องไม่เกินปริมาตร หรือน้ำหนักบรรทุกของรถ TMS จะมาช่วยวางแผนตรงนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพครับ”
สำหรับองค์ประกอบที่ TMS ช่วยวางแผนประกอบด้วย
Mobile Application เพื่อนำทางพนักงานขับรถให้ไปขนส่งตามลำดับ และแนะนำเส้นทางที่ใกล้ที่สุด ตลอดจนใช้สำหรับรับลายเซ็นจากผู้รับสินค้า เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการส่งสินค้าสำเร็จ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้อย่าง Real Time
Reverse Logistics หรือ Logistics ย้อนกลับ โซลูชั่น TMS ช่วยจัดการ Logistics ย้อนกลับได้ เช่น ร้านค้าตัวแทนจัดจำหน่ายหนึ่ง ขายเครื่องดื่มแบบขวดที่บรรจุลัง เมื่อขายหมดเหลือลัง แล้วต้องการส่งลังกลับคลังบริษัท ระบบ TMS ก็จะแจ้งได้ว่า หากรถ A ส่งสินค้าเสร็จแล้ว ต้องผ่านตัวแทนจัดจำหน่ายนั้น ก็ให้รับลังเปล่าไปส่งคลังบริษัทด้วยได้
Payment สามารถชำระเงินค่าสินค้าโดยการสแกน QR Code ได้เลย ช่วยลดขั้นตอนการนำฝากเงินสด และนับตรวจสอบเงิน
ความสำคัญของ TMS
เมื่อเห็นความสะดวกของ Logistics solution แล้ว ผู้อ่านอาจเกิดคำถามว่า แล้วมีความจำเป็นต้องใช้ TMS มากน้อยแค่ไหน ประเด็นนี้ คุณเมธัช อธิบายว่า
“ข้อมูลวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ของกรมขนส่งทางบก ระบุว่า ไทยมีรถบรรทุกที่วิ่งให้บริการอยู่ประมาณ 1.2 ล้านคัน และรถบรรทุกส่วนบุคคลซึ่งเป็นแวนกับปิคอัพ ก็มีอีก 7 ล้านคัน ดังนั้นรถขนส่งในประเทศไทยมีมากกว่า 8.33 ล้านคัน เยอะมากนะครับ จำนวน 8 ล้านคันที่ต้องวิ่งส่งสินค้าในทุก ๆ วัน จึงจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการให้การขนส่งมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ทั้งนี้คุณเมธัช ยังบอกอีกว่า ระบบ TMS ระดับชั้นนำที่ให้บริการระดับโลกนั้นต้องมีการลงทุนถึง 30 – 40 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ องค์กร SME แทบไม่มีโอกาส แต่โซลูชั่นของ Skyfrog นั้นพัฒนาโดยคนไทย ประสิทธิภาพไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน ที่สำคัญต้นทุนไม่สูง SME สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้
Digital Solution ด้าน Logistics เลือกเหมาะสม ประโยชน์สูงสุด
ประโยชน์ของ Logistics solutions มีหลายด้าน ช่วยได้หลายประโยชน์ ซึ่งหากเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมก็จะนำพาธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จอย่างสูง ซึ่งคุณเมธัช ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้
ประสิทธิภาพในการขนส่ง
หากคุณมีการขนส่งจำนวนมากในแต่ละวัน เช่น แต่ละวันต้องส่งสินค้า 100 แห่ง 105 ออร์เดอร์ ซึ่งลูกค้าแต่ละเจ้าสั่งเยอะ สั่งน้อยต่างกัน บางร้านเปิด 10.00 น. บางร้านเปิด 20.00 น. หากส่งในห้างสรรพสินค้าต้องเข้าไปจอดลานจอดหมายเลขอะไร บางร้านอยู่ติดถนนใหญ่ บางแห่งอยู่ในซอย แน่นอนว่าร้านที่อยู่ในซอยเล็ก ย่อมส่งด้วยรถบรรทุกใหญ่ไม่ได้ ซึ่งข้อจำกัดในการขนส่งมีหลากหลาย แล้วรถบรรทุกก็มีทั้งแบบ 4 ล้อ แบบ 6 ล้อ ต้องตัดสินใจอีกว่าต้องใช้อย่างไร Logistics จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิด และวางแผนมาก
ทาง Skyfrog เล็งเห็นปัญหาตรงนี้ จึงเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมา เพื่อให้ AI เข้ามาช่วยตัดสินใจ โดย AI จะวางแผนให้ว่า ต้องใช้รถกี่คัน คันไหนวิ่งเส้นไหน เวลาไหน ฯลฯ โดยจำนวน 105 ออร์เดอร์ ระบบ Software จะใช้เวลาประมวลผลไม่เกิน 3 นาที
คุณเมธัช กล่าวว่า ระบบโลจิสติกส์แบบเดิมใช้พนักงานอาวุโสที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในการวางแผน แต่หากวันหนึ่งพนักงานรายนั้นเกษียณ ใครจะมาวางแผนให้ ต้องฝึกกันใหม่ ทำให้เสียโอกาส แต่หากใช้ AI ต่อให้พนักงานเปลี่ยนแปลงอย่างไร ระบบก็ยังคงเสถียรเหมือนเดิม
นอกจากนี้คุณเมธัช ยังยกตัวอย่างความสำคัญของการวางแผนเดินทางอีกว่า งานวิจัยด้านการจราจรของ UPS ใน ค.ศ. 2004 พบว่า หากวางแผนให้รถขนส่งเลี่ยงการเลี้ยวซ้าย (วิจัยในประเทศที่ขับรถเลนขวา หากเทียบกับประเทศไทย คือ เลี่ยงการเลี้ยวขวา เพราะไทยวิ่งเลนซ้าย) สามารถลดเชื้อเพลิงได้มากกว่า 10 ล้านแกลลอน และสามารถส่งสินค้าได้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 350,000 ชิ้นต่อปี
นอกจาก Digital Solution ช่วยวางแผนการขนส่งแล้ว ยังทำหน้าที่ Navigator นำทางให้พนักงานขับรถอีกด้วย ประโยชน์นี้ช่วยให้พนักงานใหม่ที่ไม่ชำนาญทาง ทำงานได้อย่างสะดวกอีกด้วย
Tracking GPS
เป็น Digital Solution ที่ช่วยทำให้ติดตามการขนส่ง ผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบสถานะการขนส่งสินค้าได้ตลอดเวลา เหมาะสำหรับธุรกิจที่ให้บริการส่งสินค้าที่ต้องมีการติดตาม
Payment QR Code
Logistics solutions ไม่เพียงขนส่งสินค้า แต่สามารถเรียกเก็บเงินปลายทางผ่าน QR Code ได้ด้วย ระบบนี้เหมาะสำหรับองค์กรที่เรียกเก็บเงินทันทีหลังส่งสินค้าเสร็จ ประโยชน์ที่ได้รับ คือ ลดความเสี่ยงจากการที่พนักงานขนส่งต้องนำเงินสดเข้าบัญชีธนาคาร หรือถือส่งฝ่ายบัญชี ตลอดทั้งลดการนับตรวจสอบซึ่งเสียเวลาโดยใช่เหตุ โดยระบบ AI จะแจ้งให้ทราบด้วยว่า เงินนี้เป็นของใคร ของ Invoice หรือใบส่งของหมายเลขอะไร สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ทั้งหมด พร้อมมีอีเมลแจ้งฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าสินค้า Order นี้รับจากต้นทางชื่ออะไร มาวันที่เวลาอะไร สถานที่ไหน ไปส่งให้ลูกค้าชื่ออะไร วันที่เวลาอะไร สถานที่ไหน ฯลฯ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยืนยันการจัดส่ง
บางธุรกิจต้องการยืนยันว่าสินค้าที่ส่งสมบูรณ์ไม่ชำรุดเสียหาย เช่น เฟอร์นิเจอร์ ประโยชน์ของ Logistics solutions คือ เมื่อส่งสินค้า ประกอบ และติดตั้งให้ลูกค้าแล้ว สามารถถ่ายภาพยืนยันเป็นหลักฐานได้ว่า จัดส่ง ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว โดยสินค้าไม่แตกหักหรือชำรุดใด ๆ เพื่อลดปัญหาลูกค้าแจ้งว่าสินค้าเสียหายเข้ามาทีหลัง เพราะแม้จะติดตั้งเรียบร้อยดีแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกค้าอาจเผลอทำสินค้าเสียหายโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วรายงานเข้าบริษัทเพื่อขอค่าเยียวยาได้
เหล่านี้ คือ ประโยชน์อันหลากหลายของ Digital Solution ด้าน Logistics ที่หากเลือกใช้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
อนาคตของ Logistics Tech ในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่า Logistics Tech มีประโยชน์ก้าวล้ำกว่าการขนส่งไปมาก สำหรับเทรนด์ในอนาคตนั้น คุณเมธัช มีมุมมองว่า “จะมีการนำ AI เข้ามาใช้ในซอฟต์แวร์ หรือในการปฏิบัติงานมากขึ้น เช่น นำมาพยากรณ์อนาคตว่าพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า จะมีออร์เดอร์เข้ามาประมาณเท่าไร ต้องใช้รถกี่คัน แล้วก็เรื่องของการนำ Data ที่อยู่ในระบบทั้งหมดไปทำ Dashboard ได้ด้วยตัวเอง เพราะว่าแต่ละบริษัท อาจจะมีมุมมองเรื่องของการดู Data มี KPI ที่ไม่เหมือนกัน เขาก็อยากจะทำแดชบอร์ดที่ยืดหยุ่นสำหรับองค์กรของตัวเองได้”
นอกจากนี้คุณเมธัช ยังมองว่า ต่อไปจะมีการพัฒนา Application ย่อย ๆ ด้านการขนส่งอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะ Application แบบ No code หรือ low code ที่ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านโปรแกรมก็สามารถสร้าง Application ได้
Logistics ที่ดีช่วยลดต้นทุนธุรกิจ สร้างกำไร และเติบโตอย่างมั่นคง
ท้ายนี้คุณเมธัช อธิบายถึงความสำคัญของการนำ Digital Solution ด้าน Logistics มาใช้ว่า สามารถลดต้นทุนธุรกิจได้ พร้อมกับนำต้นทุน Logistics มาเปรียบเทียบ โดยปัจจุบัน ต้นทุนด้านการขนส่งของประเทศไทย อยู่ที่ 13.8% นั่นหมายความว่า สินค้า 1 ชิ้น หากราคา 100 บาท จะมีต้นทุนของการขนส่งอยู่ 13.8 บาท ซึ่งหากระบบ Logistics มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดต้นทุนตรงนี้ลงได้มาก
สำหรับต้นทุนด้านการขนส่งของประเทศเพื่อนบ้านนั้น กัมพูชา 18%, เวียดนาม 20.9-25%, อินโดนีเซีย 24%, มาเลเซีย 13%
คุณเมธัชอธิบายว่าในกลุ่มประเทศอาเซียน ตัวเลขอาจจะใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเทียบกับประเทศโซนอเมริกาเหนือ หรือยุโรป จะเห็นถึงความแตกต่าง เพราะโซนนั้นต้นทุนต่ำกว่า 10% โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาต้นทุนขนส่งเพียง 8.6% เนื่องจากระบบการขนส่งทางรางมีโครงข่ายทั่วถึง จึงทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำตามไปด้วย
“ทำไมตัวเลขนี้ถึงสำคัญ เพราะว่า Logistics Cost จริง ๆ แล้วไม่เกิดมูลค่าเพิ่มกับสินค้า ดังนั้นหากประเทศมีต้นทุนการขนส่งต่ำเท่าไร ก็จะยิ่งได้เปรียบในการแข่งขัน” คุณเมธัชกล่าว
นอกจากนี้ความคาดหวังของผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีอีกด้วย โดยจะคาดหวังว่าเมื่อสั่งซื้อแล้วจะได้รับสินค้าเร็วที่สุด เดิมอาจจะอยู่ที่ 3 – 5 วัน แต่ในอนาคต ความคาดหวังอาจเป็นสั่งตอนเช้า ตอนบ่ายต้องได้ ดังนั้น Digital Solution ด้าน Logistics จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ช่องทางติดต่อ Skyfrog Co., Ltd.
Website: https://www.skyfrog.net/home/
Line ID: @skyfrog
โทร : 02-692-8731-4
*********