EdTech

COVID-19

HR Tech

Innovation

Digital

10.08.2022

【ICHI TALK】 Tasket แพลตฟอร์มเชื่อมโอกาสและความสำเร็จของนักศึกษาไทย

【ICHI TALK】 Tasket แพลตฟอร์มเชื่อมโอกาสและความสำเร็จของนักศึกษาไทย

รายการ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ และร่วมแชร์ประสบการณ์ รวมถึงข้อคิดดี ๆ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรพลาด

ผู้ดำเนินรายการ: รายการ ICHI TALK ในวันนี้ ขอนำเสนอธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษาซึ่งกำลังมองหาที่ฝึกงาน รวมไปถึงเจ้าของธุรกิจที่กำลังมองหานักศึกษาซึ่งมีความสามารถและศักยภาพ โดยธุรกิจนี้เป็นแพลตฟอร์มที่ให้พื้นที่แก่นักศึกษาและภาคธุรกิจมาพบเจอกัน พร้อมตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี ขอต้อนรับคุณโจทาโร่ เซร่า CEO&Co-Founder จาก Tasket ค่ะ ก่อนอื่นอยากให้คุณโจแนะนำ Tasket ให้ทุกคนฟังหน่อยค่ะ

คุณโจ: ก่อนอื่น คือ ผมต้องการที่จะอุดช่องว่างระหว่างมหาวิทยาลัยและการทำงาน จึงได้สร้างแพลตฟอร์มที่นักศึกษาสามารถพบเจอกับบริษัทที่เปิดรับนักศึกษาฝึกงานได้ครับ

ผู้ดำเนินรายการ: จุดเริ่มต้นในการก่อตั้ง Tasket คืออะไรคะ

คุณโจ: ตอนผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 ผมพยายามหาที่ฝึกงานช่วงปิดเทอม ซึ่งตัวผมสามารถพูดได้ 3 ภาษา คือ อังกฤษ ไทย ญี่ปุ่น จึงคิดว่าน่าจะหาที่ฝึกงานได้ไม่ยาก ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป แล้วค่อยมาหาที่ฝึกงานตอนใกล้เวลาแล้ว ปัญหา คือ การหาที่ฝึกงานนั้นยากกว่าที่คิดมาก เพราะเราไม่เห็นหรือไม่รู้จักพื้นที่ที่เราสามารถหาได้ บางบริษัทก็ประกาศในเว็บไซต์ บางบริษัทก็ประกาศในโซเชียลมีเดีย ทำให้เรารู้สึกว่าเสียเวลามาก ซึ่งในช่วงนั้นผมเองก็สนใจใน Startup มาก ๆ เลยเข้าไปในเว็บไซต์ที่มีรายชื่อของ Startup แล้วค่อย ๆ ติดต่อไปทีละบริษัท รวมประมาณ 50 แห่ง จำนวนกว่า 20 บริษัทที่ติดต่อไปกำลังรับนักศึกษาฝึกงาน เพียงแต่ไม่ได้ลงประกาศในเว็บไซต์ทุกครั้งที่เปิดรับสมัครเนื่องจากไม่มีเวลา ผมจึงมีความคิดว่า ถ้าเรามีพื้นที่เพื่อประกาศรับสมัครนักศึกษาฝึกงานก็น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งสองด้าน ซึ่งไอเดียนี้ในตอนแรกจะทำเป็น summer project ช่วยนักศึกษา แต่หลังจากนั้น 2-3 ปี ก็กลายมาเป็น Startup

ผู้ดำเนินรายการ: อยากทราบว่าในช่วงแรกเราทำให้บริษัทและนักศึกษามาเจอกันได้อย่างไรคะ

คุณโจ: ตอนนั้นผมทำเป็นเว็บไซต์แบบง่าย ๆ เลยครับ เนื่องจากตัวผมเองก็ไม่ได้เรียนมาทาง computer science เลยไปเรียนคอร์สออนไลน์ ซึ่ง final project ของคอร์สจะเป็นการสร้าง facebook clone หลังจากนั้นก็ปรับปรุงให้มี 2 ประเภทผู้ใช้งาน คือ ธุรกิจและนักศึกษา โดยทำงานแบบ manual คือ เมื่อมีนักศึกษาคลิกเข้ามาก็จะมีการแจ้งเตือนเข้ามาใน database ของผม หลังจากนั้นผมก็ส่งอีเมลหาบริษัทแจ้งว่ามีนักศึกษาสนใจพร้อมแนบโปรไฟล์เหมือนกับอีเมลอัตโนมัติ โดยใน 2 สัปดาห์ ผมสามารถหางานสถานที่ฝึกงานให้กับนักศึกษาได้ถึง 15 ราย จึงมีความคิดว่าหากสามารถจัดการหลังบ้านให้เป็นรูปแบบอัตโนมัติได้ก็จะสามารถช่วยนักศึกษาและบริษัทได้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ: ในตอนนั้นคิดไหมคะว่าอยากนำมาทำเป็นธุรกิจจริงจัง

คุณโจ: ไม่เลยครับ อย่างที่ทราบกันว่า passion สามารถเกิดได้จากทั้งภายในและภายนอก ซึ่งหากเกิดมาจากภายในก็จะทราบเลยว่าอยากทำอะไร แต่ผมเองในจุดนั้นไม่ได้มี passion ในเรื่องการหางานหรือการช่วยเหลือนักศึกษา เพียงแค่มองว่าเป็น project ที่น่าสนใจเพื่อมาฝึกในการ coding และช่วยนักศึกษา passion ของผมนั้นมาจากภายนอก เพราะเมื่อลองทำไปเรื่อย ๆ ได้มีข้อมูลและความรู้ที่มากขึ้น รวมถึงได้รับข้อความขอบคุณจากนักศึกษาและบริษัท ทำให้เห็นว่าปัญหาในเรื่องการฝึกงานเป็นปัญหาในวงกว้างตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องบอกว่าในปัจจุบันความต้องการในการฝึกงานมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากธุรกิจก็ค้นหานักศึกษาหรือเด็กจบใหม่ที่มีประสบการณ์งานสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากตัวงานเองก็มีความยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้เล่าถึงการเติบโตของแพลตฟอร์มให้ฟังหน่อยค่ะ ว่าหลังจากที่เป็นเว็บไซต์แล้วมีการพัฒนาอย่างไรต่อบ้างคะ

คุณโจ: ในช่วงแรกก็เป็นเว็บไซต์ทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้มีระบบอัตโนมัติ แต่เมื่อจำนวนนักศึกษาที่ต้องการติดต่อหาที่ฝึกงานมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งผมทำการส่งอีเมลด้วยตัวเองไม่ไหว เลยพัฒนาระบบให้เป็นระบบอัตโนมัติ และพัฒนามาเป็น Startup ในช่วงที่เกิดโควิดครับ เนื่องจากการพัฒนาแพลตฟอร์มต้องใช้เวลาและความคิด และอีกอย่างก็อยากสร้าง Startup เองด้วย หลังจากเริ่มทำ Startup ไปได้ประมาณ 2-3 เดือน ก็เกิดการระบาดของโควิด ต้องบอกว่าจังหวะไม่ดีเลยครับ แต่ก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ดี เพราะในช่วงนั้นทั้งบริษัทและนักศึกษาก็เกิดปัญหา เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปยังมหาวิทยาลัย หรืองานนิทรรศการหางานอะไรได้เลย ทำให้มี pain point ใหญ่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างกลายมาเป็นออนไลน์

ผู้ดำเนินรายการ: ชื่อของ Tasket มีที่มาจากอะไรคะ

คุณโจ: คำว่า Tasket เป็นการผสมคำระหว่างภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษครับ มาจากคำว่า 助ける (Tasukeru) ที่แปลว่า ช่วยเหลือ เนื่องจากผมสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนของตัวเองเลยใช้คำนี้ครับ และอีกคำคือคำว่า basket เพราะในช่วงแรกของเว็บไซต์จะเป็นเหมือน basket of companies ที่กำลังหา internship อยู่ครับ ก็มีแอบคิดนะครับว่าชื่อนี้เหมาะกับรูปแบบของธุรกิจไหม เพราะฟังแล้วก็ไม่ค่อยรู้ว่าเป็นธุรกิจด้านไหน แต่ว่านักศึกษาส่วนใหญ่จดจำชื่อนี้ไปแล้วจะเปลี่ยนก็คงเปลี่ยนไม่ได้แล้วครับ

ผู้ดำเนินรายการ: อย่างที่ทราบกันว่าคุณโจเป็นคนญี่ปุ่น และได้ไปศึกษาทั้งที่ประเทศไทยและต่างประเทศ ทำไมถึงเลือกที่จะมาทำธุรกิจที่ประเทศไทยคะ

คุณโจ: อาจเป็นเพราะความต้องการมีอยู่ที่ประเทศไทยครับ ต้องบอกว่าการหางานในประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มีระบบที่ค่อนข้างชัดเจน เพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมตัวว่าจะต้องทำอย่างไรในการหางานในอนาคต ซึ่งมีแพลตฟอร์มที่ support ในเรื่องพวกนี้มีค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นในมหาวิทยาลัยเองหรือข้างนอก หากให้เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ระบบการหางานของประเทศไทยยังค่อนข้างเป็นเรื่องยาก ผมมองว่าที่ไทยมี pain point นี้เลยคิดว่าจะเริ่มจากตรงนี้ก่อนครับ ประกอบกับผมสามารถพูดได้หลายภาษา เลยเป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบที่ทำให้ผมสามารถติดต่อสื่อสารกับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งมีแบคกราวด์ต่างกันได้ครับ

ผู้ดำเนินรายการ: ก่อนที่จะทำ Tasket แบบจริงจังได้มีการสำรวจตลาดก่อนไหมคะ ว่าในเมืองไทยมีแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ที่ช่วย support ผู้ประกอบการมากน้อยแค่ไหน

คุณโจ: ก็มีบ้างนะครับแต่ไม่ได้เยอะ ถ้าเป็น talent platform เค้าก็จะโฟกัสเรื่อง management ไม่ก็ถ้าเป็นสายเทคโนโลยีก็จะไปทาง developer หรือ designer ไปเลยครับ แต่นักศึกษายังไม่มีประสบการณ์มากขนาดนั้น ทักษะก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะเข้าไปทำงานในแพลตฟอร์มแบบนั้นได้ นักศึกษามักจะเกิดความรู้สึกว่าทักษะหรือความสามารถของตนยังมีไม่เพียงพอ จึงไม่อยากเข้าไปใช้แพลตฟอร์มเหล่านั้น ผมเลยเห็นว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่ดีครับ

ผู้ดำเนินรายการ: Tasket นอกเหนือจากการเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้บริษัทและนักศึกษามาเจอกันแล้วยังมีบริการหรือนวัตกรรมอื่น ๆ อีกไหมคะ

คุณโจ: Tasket เอง ไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่ที่ให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกันเท่านั้น แต่เรายังมีพาร์ทเนอร์อื่น ๆ ที่ support นักศึกษาด้วย โดยมีพาร์ทเนอร์ที่จะให้ส่วนลดกับนักศึกษาในการพัฒนาตัวเอง เช่น การเขียนเรซูเม่ ฝึกสัมภาษณ์ การฝึกงานที่ต่างประเทศ อีบุ๊ค ออดิโอบุ๊ค หรือสตรีมมิ่งเซอร์วิส เป็นต้น

ผู้ดำเนินรายการ: อยากทราบถึงการทำงานและการบริหารของคุณโจค่ะ อยากให้ช่วยเล่าถึงประสบการณ์ในการพัฒนาธุรกิจหรือในการบริหารงานให้ฟังหน่อยค่ะ ว่าเคยพบเจอปัญหาแบบใดและแก้ปัญหาอย่างไรคะ

คุณโจ: ทีมงานของเราติดโควิดกันบ่อยครับ กลยุทธ์ในการบริหารของเราคือต้องทำงานแบบออนไลน์ และไม่ต้อง meeting ทุกวันในกรณีที่เกิดปัญหา เนื่องจากค่อนข้างเสียเวลา บริษัท Startup มีจำนวนคนค่อนข้างจำกัด หากต้องประชุมกันทุกวันก็แทบจะไม่สามารถพัฒนา Startup ได้เลย ผมเลยมีการใช้เครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการทำงานออนไลน์ เช่น Asana ที่ทางเราได้ใช้งานอยู่ หรือ Trello ที่หลาย ๆ บริษัทได้ใช้งานอยู่ครับ เป็นโปรแกรมแบบ dashboard ที่สามารถใช้ในการจัดการงานต่าง ๆ โดยสามารถกำหนดเนื้อหางาน ผู้รับผิดชอบ และเวลาในการส่งงานได้ ในส่วนนี้ทุกคนจะสามารถมองเห็นได้ ทำให้ทราบปริมาณงานของแต่ละคนว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด ถือเป็น productivity tool ที่สำคัญที่สุดในการทำงานออนไลน์ เพราะสามารถช่วยลดระยะเวลาในการประชุมได้เยอะ ทั้งยังช่วยให้เราสามารถติดตามงานที่สั่งเอาไว้ รวมถึงดูประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละคนได้ง่ายขึ้นด้วยครับ

ผู้ดำเนินรายการ: ในการบริหารงานเคยประสบปัญหาที่ไม่คาดคิดไหมคะ

คุณโจ: ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเวลาในการพัฒนาแพลตฟอร์มครับ ตัวผมเองก็ไม่ได้เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและไม่มีความรู้ตรงนี้มากนัก ทำให้ไม่ทราบว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร ตัวผมเองก็เรียนรู้จากทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นจากทาง google หรือ youtube ทั้งการปัญหาและพัฒนาตัวเองครับ การทำงานเป็น CEO ไม่ใช่ว่าจะดูแลแค่ด้าน business อย่างเดียว แต่ต้องดูแลหลายด้าน ซึ่งบางอย่างตัวผมเองก็ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำ แต่เราต้องเป็นคนจัดการ ซึ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ให้เร็วที่สุดตามการเติบโตของธุรกิจ

ผู้ดำเนินรายการ: นอกจากลุ่มบริษัทที่ต้องการหา intern และนักศึกษาแล้ว ยังมีกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ อีกไหมคะ

คุณโจ: นอกจาก 2 กลุ่มที่กล่าวมา ก็มีพาร์ทเนอร์ที่ให้บริการนักศึกษาครับ มหาวิทยาลัยเองก็ถือเป็นพาร์ทเนอร์ของเราเหมือนกัน ปัจจุบันพาร์ทเนอร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยจะมี ม.มหิดล ม.ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับ แต่ก็มีแพลนที่จะขยายกลุ่มพาร์ทเนอร์มหาวิทยาลัยให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเราเองก็อยากที่จะช่วยนักศึกษาให้หาที่ฝึกงานได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าทางมหาวิทยาลัยก็คงมีความร่วมมือกับบริษัทใหญ่ไว้แล้ว แต่หากต้องการทำงานทางสาย Tech หรือ Startup มากขึ้น Tasket ก็จะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ อีกทั้งเรายังมีการทำเวิร์คชอปสอนนักศึกษาเกี่ยวกับวิธีการหางานในยุคนี้ด้วยครับ

ผู้ดำเนินรายการ: นอกจากสายเทคโนโลยีแล้ว คิดว่าจะขยายบริการไปยังสาขาอาชีพอื่น ๆ อีกไหมคะ

คุณโจ: เป็นสิ่งที่เราทำอยู่เรื่อย ๆ นะครับ ในตอนนี้ก็มีองค์กรใหญ่ ๆ ที่เข้ามาใช้งาน Tasket เหมือนกัน เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีการจ้าง intern เป็นปกติอยู่แล้วทุกปี ทำให้พื้นที่ตรงนี้มีประโยชน์ต่อเค้าอย่างเห็นได้ชัด ในส่วนของเราเราก็ต้องการที่จะเรียกบริษัททั้งเล็กและใหญ่ รวมถึงการจ้าง intern หรือเด็กจบใหม่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งเราเลยพยายามสร้างฟีเจอร์ต่าง ๆ เ
พื่อมาตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรทุกขนาดครับ

ผู้ดำเนินรายการ: เนื่องจาก Tasket ให้บริษัทและนักศึกษาเข้ามาใช้บริการได้ฟรี จึงอยากสอบถามว่าใช้ช่องทางไหนในการหารายได้เข้ามาในธุรกิจคะ

คุณโจ: ในการหา intern ทั้งทางนักศึกษาและบริษัทสามารถที่จะโพสต์หรือเข้ามาหางานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากต้องการหานักศึกษาให้ได้เร็วขึ้นก็สามารถ update ให้เป็น Pro Feature ได้ โดยจะประกอบด้วย Tob post คือ ฟีเจอร์ที่เมื่อมีตำแหน่งที่ต้องการ เค้าสามารถโปรโมตตำแหน่ง และได้ search prioritization บนแพลตฟอร์มของเรา เท่ากับว่างานของคุณจะอยู่บน Top search result เสมอ อีกข้อหนึ่งก็คือ Tasket marketplace ครับ เป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าไปดูใน database ของเราได้ และติดต่อหานักศึกษาได้โดยตรง โดยเราจะไม่ได้แสดงโปรไฟล์ของทุกคน หากโปรไฟล์ของคนนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังมีการเรียงโปรไฟล์ตาม active date ด้วยครับ เพื่อให้สามารถทราบได้ยังมีการ update และมองหางานอยู่ ดังนั้นหากใช้ฟีเจอร์เหล่านี้ เมื่อติดต่อไปหานักศึกษาก็จะได้คนที่กำลังหางานอยู่ทันที ทำให้อัตราการตอบกลับของเราสูงกว่าที่อื่น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมข้อมูลตรงนี้เข้าไปในไลน์ของตนเองได้อีกด้วย เพราะบางครั้งนักศึกษาอาจจะไม่ได้อ่านอีเมลเมื่อมีการแจ้งเตือน

ผู้ดำเนินรายการ: งั้นเรียกได้ว่าการสร้างแพลตฟอร์มนี้แบบจริงจังเป็นธุรกิจใช้เวลาแค่ 2 ปีเท่านั้นใช่ไหมคะ

คุณโจ: ก็ใช่ครับ แต่ในมุมมองของผม ผมคิดว่าในฐานะ Startup นั้นช้าเกินไป สาเหตุอาจจะมาจากความลังเลของผมเองในเรื่องไลน์ฟีเจอร์ เนื่องจากเราเองก็ไม่ได้เป็นรีครูท ไม่ทราบความต้องการของบริษัททำให้บางฟีเจอร์บริษัทก็ไม่ได้ต้องการ ซึ่งเป็นการเสียเวลา และเนื่องจากในช่วงสองปีนี้ที่เกิดการระบาดของโควิดการติดต่อสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นกับทางบริษัท มหาวิทยาลัย หรือนักศึกษานั้นเป็นเรื่องยากด้วยครับ ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่าปีที่ 3-4 ควรจะต้องมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 10 เท่าให้ได้ครับ

ผู้ดำเนินรายการ: ใช้ช่องทางและแนวทางการทำการตลาดให้บริษัทและนักศึกษารู้จักอย่างไรคะ

คุณโจ: ช่วงโควิดบริษัทก็มีการปิดรับ intern แต่ไม่ว่าอย่างไรนักศึกษาก็จะต้องฝึกงาน อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้ฝึกงานออนไลน์ได้ ผมเลยไปหา Startup และ Tech Company ที่ WFH ได้ และรับนักศึกษาฝึกงานแบบออนไลน์ได้ครับ ตรงนี้ทำให้ชื่อของ Tasket กลายเป็นที่รู้จักของนักศึกษาและทางมหาวิทยาลัย เราใช้งบทางการตลาดน้อยมากครับ เพราะเรามีงบจำกัด การบอกต่อกันปากต่อปากเลยเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด

ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้เล่าถึงเป้าหมายในอนาคตสักเล็กน้อยค่ะว่าอยากให้ Tasket เป็นอย่างไรในอนาคต

คุณโจ: ทางเราอยากไปเป็นพื้นที่ที่นักศึกษามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงให้บริษัทสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับนักศึกษาได้ ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่ที่ให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกันเพียงเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น Linkedin เป็นแพลตฟอร์มของคนที่มีประสบการณ์ ก็อยากให้ Tasket เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานครับ เป็นพื้นที่ของเด็กรุ่นใหม่ที่จะมาแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างกัน รวมไปถึงพูดคุยกับฝั่งธุรกิจหรือรุ่นพี่ที่ผ่านการทำงานมาแล้ว เพื่อจะได้เอาความรู้ที่ update มาบอกเล่า และส่งต่อว่างานประเภทไหนทำอย่างไร รวมถึงว่าหากไปฝึกงานที่บริษัทนี้จะได้ประสบการณ์การทำงานแบบไหน เป็น community ของวัยรุ่นที่ใช้ในการแชร์ประสบการณ์ครับ

ผู้ดำเนินรายการ: สุดท้ายอยากให้ฝากข้อความที่สามารถสร้างกำลังใจและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการสักเล็กน้อยได้ไหมคะ

คุณโจ: ถ้าอยากจะทำ Startup ในช่วงนี้ ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีนะครับ เนื่องจาก Startup สร้างจากข้อจำกัดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนหรืองบประมาณ พอมีโควิดธุรกิจอื่น ๆ ก็มีงบที่จำกัดมากขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันกันในพื้นที่และเงื่อนไขที่ fair มากขึ้น จะเห็นได้ว่าช่วงที่มีการระบาดหรือเศรษฐกิจตกต่ำเป็นช่วงที่ Startup ดัง ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่น ในปี 2008 มี Airbnb ดังนั้นส่วนตัวผมคิดว่าหากต้องการที่จะเริ่มอะไรก็ควรที่จะเริ่มเลยครับ

ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ฝากช่องทางการติดตาม tasket หน่อยค่ะ

คุณโจ: สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.tasket.me ได้เลยครับ หรือทาง https://www.facebook.com/tasket.me ก็ได้เช่นเดียวกัน หรือถ้าหากอยากจะติดต่อพูดคุยกับผมโดยตรงก็สามารถเข้าไปที่ Linkedin ชื่อ Jotaro Sera https://www.linkedin.com/in/jotaro-sera-tasket/ ครับ

** ผู้สนใจรับชมรายการ ICHI TALK ในรูปแบบวิดีโอ สามารถรับชมผ่าน ICHI Website โซน VIDEO ได้ทันที **

RECOMMEND