Construction project management software

Digital

10.11.2023

【Construction Tech】BIM เทคโนโลยีจำลองการก่อสร้างเสมือนจริง ที่ทำให้การก่อสร้างกลายเป็นเรื่องง่าย

ก่อนลงหลักปักฐาน ขึ้นโครงสร้าง ดำเนินการก่อสร้างจนกลายเป็นอาคารหลังหนึ่ง ต้องมีการวางแผน สำรวจพื้นที่ เขียนแบบ คำนวนงบประมาณ ถอดแบบออกมาเป็นโมเดล เพื่อจำลองภาพเสร็จของอาคารให้เห็นเป็นรูปธรรม หลายครั้งทำออกมากลับผิดแบบ คลาดเคลื่อนจนต้องรื้อแก้ไขกันขนานใหญ่ หรือบางทีเมื่อลูกค้าตรวจรับงาน กลับพบว่ารายละเอียดภายในไม่ตรงกับแบบที่ตกลงกันไว้ เช่น ลายพื้น ลักษณะบันได หรือประตู ส่งผลให้ต้องแก้ไข สิ้นเปลืองเวลา และงบประมาณโดยใช่เหตุ ฉะนั้นในการก่อสร้างจึงต้องใช้ความแม่นยำ ความละเอียดรอบคอบของผู้รับเหมา และทีมงานเป็นอย่างมาก เพราะหากพลาดแม้ขั้นตอนเล็ก ๆ ย่อมหมายถึงการเสียเวลา และต้นทุนมหาศาล

ปัจจุบันมีการพัฒนาวงการก่อสร้างด้วยเทคโนยีการก่อสร้าง หรือ Construction Technology เพื่อขจัดปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ Building Information Modeling (BIM)

BIM (Building Information Modeling) คืออะไร
BIM คือ เทคโนโลยีการก่อสร้างแบบครบวงจรโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เริ่มตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึงขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่ง BIM ก็สามารถจำลองแบบเสมือนจริงของอาคารออกมาได้อย่างแม่นยำ ทำให้ผู้รับเหมา หรือผู้ลงทุน สามารถประเมินราคา และจัดการวัสดุได้อย่างครบถ้วน ไม่เหลือทิ้ง

ขอยกตัวอย่างพอสังเขปเพื่อให้เห็นภาพการทำงานของ BIM ดังนี้
การเขียนแบบ – BIM สามารถจำลองแบบออกมาได้ทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการเข้ามารวมไว้ในที่เดียวได้ นั่นหมายความว่าแบบจำลองจาก BIM จะทำให้เรามองเห็นได้ถึงระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่แสงตกกระทบในองศาต่าง ๆ ได้นั่นเอง ที่สำคัญ BIM สามารถถอดคำนวนจำนวนวัสดุที่ต้องใช้ได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้งบไม่บานปลาย ต่างจากการคำนวณเผื่อขาดอย่างในอดีต ทั้งนี้หากมีการแก้ไขแบบ ระบบก็ยังสามารถคำนวนปรับแก้ไขให้ได้โดยอัตโนมัติ

หน้างาน – BIM สามารถช่วยประเมินพื้นที่หน้างานได้ว่า เราควรวางวัสดุตรงตำแหน่งใด ในปริมาณเท่าไร และลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานจริง เนื่องจากขั้นตอนออกแบบคำนวณสิ่งต่าง ๆ มาอย่างแม่นยำแล้ว คนงานจึงสามารถทำงานได้สะดวก ฝ่ายวิศวกรมีเวลาทุ่มเทให้กับคุณภาพของงานมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการแก้ไขปัญหาจุกจิกรายวัน

BIM กับการสร้างศักยภาพให้งานก่อสร้างในพื้นที่จริง
ข้างต้นที่ยกมากล่าว คือ ตัวอย่างพอสังเขปเกี่ยวกับความสามารถของ BIM เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพ และเข้าใจการทำงานของมัน ในส่วนรายละเอียดลึก ๆ นั้น ทีมงานขอพาไปพูดคุยกับ คุณพงศ์พันธ์ สุธิชัย Virtual Design and Construction Manager บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC เพราะที่นี่ มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีการก่อสร้าง BIM และมีประสบการณ์ด้านบริการการก่อสร้างมาอย่างยาวนาน

คุณพงศ์พันธ์ เปรียบเทียบการก่อสร้างแบบเก่ากับการใช้ BIM ว่า แบบเก่าเมื่อได้แบบมาแล้ว ต้องใช้จินตนาการในการก่อสร้าง แต่ BIM ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง ช่วยให้ขั้นตอนการทำงานจริงกลายเป็นเรื่องง่าย และสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยกตัวอย่างประโยชน์ของ BIM ในเรื่องการเขียนแบบว่า

“เวลาเราเขียนแบบ อาจเจอปัญหา เช่น ทำบันไดขึ้นไปแล้วชนเพดาน เนื่องจากไม่ได้เจาะช่องไว้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มักเกิดจากการเขียนแบบที่เข้าใจไม่ตรงกัน หรืออาจเกิดการแก้แบบไปมา ปัญหาตรงนี้จะไม่เกิด หากเราใช้ BIM เพราะระบบจะช่วยแสดงให้เห็นว่าบันไดชนหรือไปต่อได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยทั้งเจ้าของตึก และผู้รับเหมาก่อสร้าง เพราะว่าถ้าบันไดชน ไม่มีช่องก็ต้องเจาะ ต้องทุบ เกิดรายจ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แม้จะเคลียร์เรื่องต้นทุนที่เพิ่มได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ คือ ขยะจากการทุบ หรือเจาะ หากเป็นบ้านหนึ่งหลังอาจจะยังไม่เห็นภาพ แต่ถ้าเป็นอาคารหลายชั้นมีปัญหาแน่ ซึ่งหากใช้ BIM จะช่วยประหยัดเวลาทำงาน และลดความเสี่ยงลงได้มาก”

นอกจากนี้ คุณพงศ์พันธ์ ยังเปรียบเทียบวิธีทำงานก่อสร้างแบบเก่าว่า คล้ายการสื่อสารที่ยุ่งเหยิง ทั้งสายสื่อสายชนิดต่าง ๆ พันกันเป็นพัลวันวุ่นวาย ส่วนแบบ BIM นั้น BIM จะรับบทบาทเป็นผู้สื่อสารกลาง เมื่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต่างรับข้อมูลจาก BIM โดยตรง ข้อมูลที่ได้รับจึงเป็นข้อมูลที่ตรงกันทั้งหมด ส่งผลให้การทำงานมีความง่าย และรวดเร็วกว่าในอดีต

BIM ในสนามจริง
ปัจจุบัน CPAC นำ BIM เข้ามาให้บริการลูกค้าในหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นงานให้คำปรึกษา ตลอดไปจนถึงงานดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งทั้งหมดช่วยเพิ่มความสะดวก เพิ่มศักยภาพในการทำงาน ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยจะขอยกตัวอย่าง solution จาก CPAC ดังนี้

การเขียนแบบอัจฉริยะ การเขียนแบบโดย BIM ถือเป็นขั้นตอนแรกที่ปูทางให้การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้ เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างจะถูกป้อนเข้าไปในศูนย์รวมเดียวเพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

คุณพงศ์พันธ์ เสริมความสามารถของการเขียนแบบโดย BIM ว่า “อีกส่วนหนึ่ง คือ ช่วยในเรื่องของการกะปริมาณ ถอดปริมาณ ระบบจะบอกได้ว่าวัสดุนี้เป็นอะไร สิ่งนั้นเรียกว่าอะไร ให้นึกภาพตาราง excel เวลาเราไปบอกข้อมูลให้ช่วยแสดง ขอดูส่วนคอนกรีตหน่อยสิ มันก็จะบอกว่า คอนกรีตอยู่ตรงไหน กี่ชิ้น ใช้ปูนไปกี่คิว สิ่งนี้จะทำให้เราบริหารงานได้อย่างรวดเร็ว มูลค่าเป็นอย่างไร เปลี่ยนแบบทีหนึ่งก็คลิกไปได้เลย ไม่ต้องมานั่งเปลี่ยนกระดาษ ก็จะช่วยทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น”
โดยการเขียนแบบอาจใช้ร่วมกับบริการ Survey ซึ่งเป็นการสำรวจหน้างานด้วยการบินโดรน และกล้อง laser scanner เพื่อเก็บข้อมูลกายภาพของไซต์งานอย่างละเอียด ครอบคลุมองค์ประกอบโดยรอบ รวมถึงภายในอาคารทั้งหมด

3D Printing เมื่อได้แบบมาแล้ว ก็ถึงเวลาของการ print แบบออกมาดูในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งข้อดีในส่วนนี้ คือ มีความสมจริง นอกจากใช้เพื่อดูองค์รวมของอาคารแล้ว ยังช่วยในการวางแผนทำงาน และการเตรียมอุปกรณ์ด้วย เพราะ 3D Printing ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่าหน้างานมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น พื้นที่ก่อสร้างกว้างเท่าไร อยู่ส่วนไหนของงาน หากนำวัสดุใหญ่มาวางแล้ว จะกีดขวางรถเครนหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่หรือไม่ เพราะเรื่องพวกนี้ หากเราวางขวาง แล้วต้องใช้รถเครน ปรากฏว่ารถเครนเข้าไม่ได้ ก็ต้องเสียเวลาย้ายของโดยใช่เหตุ

ตรวจความคืบหน้าสมจริงด้วย VR / AR การก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี BIM เมื่อถึงเวลาตรวจงานแต่ละขั้นตอน สามารถสวมแว่น VR หรือ AR เข้าไปตรวจความถูกต้องได้อย่างสมจริง แม้ขั้นตอนตรวจงานยังเป็นเพียงโครงสร้าง แต่เมื่อวิศวกรสวมแว่นแล้ว ภาพที่เห็นจะมีภาพสมบูรณ์ของอาคารซ้อนทับภาพจริงที่กำลังทำอยู่ตรงหน้า ทำให้ตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างแม่นยำ

ลดคาร์บอน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ระบบ BIM สามารถลดขยะที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างได้ เพราะการคำนวนถอดแบบมีความแม่นยำ จึงไม่ต้องสั่งวัสดุอุปกรณ์มาเผื่อ ไม่ก่อให้เกิดขยะ ซ้ำยังได้ลดต้นทุน ทั้งยังลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซค์ได้ เพราะลดการใช้งานเครื่องจักรจากการวางแผนที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังสามารถใช้คำนวนปริมาณคาร์บอน เพื่อใช้เป็นข้อมูลด้านภาษีในอนาคตอีกด้วย ส่วนนี้ คุณพงศ์พันธ์ อธิบายว่า

“การก่อสร้างด้วย BIM สามารถคำนวนคาร์บอนได้ โดยเราอัพโหลดไฟล์ก่อสร้าง จาก BIM เข้าเว็บไซต์ kitcarbon.com ซึ่งเป็นบริการของ CPAC แพลตฟอร์มนี้จะสามารถบอกได้เลยว่าก่อให้เกิดคาร์บอนในช่วงก่อสร้างไปเท่าไร (Carbon Emission) ส่วนของพื้นใช้คาร์บอนไปเท่าไร หลังคาใช้คาร์บอนไปเท่าไร ทำให้รู้ว่า งานที่กำลังทำ ก่อให้เกิดคาร์บอนในช่วงก่อสร้างไปทั้งหมดเท่าไร”

“แล้วมีประโยชน์อย่างไร? ก็จะช่วยให้รู้ว่า สิ่งที่เราทำ ก่อคาร์บอนไปเท่าไร ซึ่งเราสามารถปรับแบบ เพื่อทดลองดูว่าสามารถลดคาร์บอนลงอีกได้หรือเปล่า อะไรที่ลดได้ก็ลด ปรับจูนให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น สิ่งนี้จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยลดคาร์บอนในการก่อสร้าง ปัจจุบัน CPAC เปิดให้ใช้แพลตฟอร์มนี้ฟรี องค์กรไหนที่ใช้ BIM ออกแบบ ก็สามารถอัพโหลดเข้าแพลตฟอร์มไปได้เลย จากนั้นระบบก็จะประมวลผลแล้วบอกออกมาว่า โครงการดังกล่าวใช้เหล็กไปแล้วกี่กิโล ใช้อิฐไปเป็นจำนวนเท่าไร สร้างคาร์บอนไปแล้วเท่าไร สิ่งนี้ถือว่าเป็นเทรนด์ที่น่าจะได้รับความนิยมในอนาคต”

นอกจากนี้ ทาง CPAC ยังมีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า BIM Object Thailand เพื่อให้ผู้ใช้งาน BIM ได้ดาวน์โหลดไฟล์ material ต่าง ๆ ไปใช้ฟรีอีกด้วย โดยทาง CPAC จะประสานงานกับเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยตรง ส่งผลให้ไฟล์ที่เปิดให้ดาวน์โหลดถูกสร้างขึ้นด้วยคุณสมบัติที่ตรงกับผลิตภัณฑ์จริง เช่น dimension, color รวมไปถึง technical specification อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้งานใน BIM ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างในไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

ประโยชน์ของ BIM ที่ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างจะได้รับ
จากความสามารถของ BIM สามารถแจกแจงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างจะได้รับ ดังนี้

1. ได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายยังไม่เห็นความสำคัญ เพราะอาจมองว่าก่อสร้างแบบเดิมงานก็เสร็จได้เหมือนกัน แต่อนาคตเทรนด์การก่อสร้างมีแนวโน้มจะมาทาง BIM เป็นจำนวนมาก หากผู้ประกอบการรายใดมีความชำนาญหรือคุ้นเคยกับการใช้ BIM ได้ก่อน ก็จะยิ่งได้เปรียบ
2. ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว งานมีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่ง
3. ใช้งบประมานได้อย่างคุ้มค่า ผลกำไรงาม วางแผนการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทุกธุรกิจให้ความสำคัญในอนาคต
5. ข้อมูลโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

ในอนาคตความต้องการอาคารบ้านเรือนมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ปริมาณงานก่อสร้างจึงน่าจะมีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันของผู้ประกอบการด้านการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การนำเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างมาใช้ คือ อีกหนึ่งวิธีที่จะผลักดันให้องค์กรมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่ง BIM ก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะปรับตัวได้เร็วกว่ากันเท่านั้น

สำหรับผู้ที่สนใจ BIM Solution ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://web.cpac.co.th/th/product/395/bim
หรือ ติดต่อสอบถาม CPAC Contact Center 02-555-5555

********

RECOMMEND