Startups
Leadership
Innovation
Others
18.08.2021
【ICHI TALK】มุ่งสร้างความเท่าเทียมทางสังคมให้กับผู้พิการทางสายตา ด้วยนวัตกรรม “BLINDNOVATION”
JRIT ICHI เปิดตัวคอนเทนท์ใหม่ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ โดย ICHI TALK ในตอนที่ 2 เรามีโอกาสสัมภาษณ์คุณจิระ ชนะบริบูรณ์ชัย CEO แห่ง .ONCE แบรนด์แฟชั่นภายใต้แนวคิดนวัตกรรม “BLINDNOVATION”
ดำเนินรายการโดย คุณวิชัย วรธานีวงศ์ คลื่น FM 96.5
ICHI TALK มีโอกาสสัมภาษณ์คุณจุ้ย จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย CEO แห่งแบรนด์ .ONCE ธุรกิจแฟชั่นที่มาพร้อมกับนวัตกรรม “BLINDNOVATION” ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับกลุ่มคนตาบอด พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวคิด Social Enterprise
ครั้งนี้คุณจุ้ยจะมาเผยเรื่องราวน่าสนใจ เกี่ยวกับธุรกิจของคนตาดีที่ทำเพื่อผู้พิการทางสายตา ไปติดตามพร้อม ๆ กันได้เลยว่า การมีส่วนร่วมช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน พร้อมผลักดันธุรกิจสู่ความสำเร็จนั้นเขาทำกันอย่างไร?
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ติดตามความสำเร็จของแบรนด์ที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม ธุรกิจของคนสายตาดี จิตใจดี ที่ทำเพื่อผู้พิการทางสายตา คนหนุ่มรุ่นใหม่ ผู้บริหารที่กำลังมาแรง คุณจุ้ย จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย CEO แห่งแบรนด์ .ONCE ทราบมาว่าช่วงนี้ภารกิจเยอะมากใช่ไหมครับ?
คุณจุ้ย: ใช่ครับ ช่วงโควิดด้วยเลยยุ่งประมาณหนึ่งครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: เรามาทำความรู้จัก .ONCE เพิ่มขึ้นกันอีกสักหน่อยดีกว่า แบรนด์นี้สำหรับใครที่อยู่ในแวดวง หรือรู้จัก Social Enterprise ก็น่ารู้จัก .ONCE กันอย่างแน่นอน รบกวนคุณจุ้ยแนะนำเพิ่มเติมอีกสักหน่อยนะครับ
คุณจุ้ย: ขอแนะนำตัวอีกครั้งนะครับ ชื่อจุ้ย จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย เป็นเจ้าของแบรนด์ .ONCE แบรนด์นวัตกรรมเพื่อผู้พิการทางสายตา เน้นในการช่วยเหลือผ่านการสร้างนวัตกรรม ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดของแนวการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise ของ .ONCE
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: อีกบทบาทก็เป็น Startup ด้วยใช่ไหมครับ
คุณจิระ: จะเรียกว่าเป็น Startup ก็ได้ครับ เพราะว่าเราก็มีการสร้างนวัตกรรมผสมผสานกับการทำเพราะฉะนั้นแล้วเราเริ่มต้นด้วยไอเดียสดใหม่เหมือนกัน
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: เราสามารถพบเห็นผู้พิการทางสายตาจำนวนมากที่ใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก ซึ่งมีหลากหลายอาชีพที่คนคุ้นเคย เช่น การขายล็อตเตอรี่ หรือร้องเพลงแลกกับเงิน ซึ่งการที่สังคมช่วยเหลือแบบนี้อาจจะไม่ได้ยั่งยืนใช่ไหมครับ?
คุณจุ้ย: ใช่ครับ ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าสังคมเราไม่ได้ให้เกียรติ และศักดิ์ศรีเท่ากันกับทุกอาชีพ เช่น คนที่มาร้องเพลง บางคนอาจจะมองว่าเขาคือขอทาน เขาคือคนที่มาขอข้าวกิน ซึ่งเราหลีกเลี่ยงทัศนคติแบบนี้ไม่ได้เลย เราเลยมองหาสิ่งที่ยั่งยืน และมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในด้านการพัฒนามากกว่า เช่น อาชีพงานปักที่พัฒนาขึ้นร่วมกับแบรนด์ปักจิตปักใจ หรือการทำแบรนด์แฟชั่นเพื่อให้คนตาบอดนำไปขาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้พิการทางสายตาได้มีอาชีพใหม่ ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น จุ้ยว่ามันเป็นโจทย์สำคัญของการช่วยเหลือในยุคนี้ด้วยว่า เมื่อก่อนเราช่วยเหลือโดยการให้เงิน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน เมื่อเงินหมดก็จะกลับมาเจอปัญหาเดิมเรื่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านการช่วยเหลือที่เราประสบกันอยู่ในสังคมในตอนนี้
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: พวกเขาเหล่านี้ถึงแม้จะบกพร่องทางสายตา แต่ก็มีศักดิ์ศรี และยังสามารถทำงานได้ การทำงาน craft จะต้องใช้ฝีมือ และสมาธิที่ดี ซึ่งคนเหล่านี้ก็สามารถทำออกมาได้ดีใช่ไหมครับ?
คุณจุ้ย: ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเราหลับตาสมาธิของเราจะโฟกัสไปยังส่วนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น เช่น เมื่อหลับตารับประทานอาหาร จะทำให้ลิ้มรสได้ดีขึ้น เพราะเราปิดประสาทสัมผัสอื่น ๆ ให้เหลือเพียงจมูก และลิ้น เท่ากับว่าการมองไม่เห็นส่งผลให้ประสาทการรับรู้ รับรส และการรับสัมผัสดียิ่งขึ้น และดีกว่าคนปกติทั่วไปด้วย เนื่องจากคนปกติทั่วไปจะถูกดึงสมาธิบางส่วนไปจากการมองเห็น นี่เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนตาบอดสามารถรับสัมผัสส่วนอื่น ๆ ได้ชัดเจนกว่า
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: .ONCE ทำให้พวกเขาเหล่านี้เท่าเทียมกันในสังคม จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทราบมาว่าแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากคุณลุงคุณป้าใช่หรือเปล่าครับ?
คุณจุ้ย: ธุรกิจนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากคุณลุง และคุณป้าของจุ้ยเอง ซึ่งทั้งคู่เป็นผู้พิการทางสายตา โดยคุณลุงตาบอดแบบเลือนลาง ส่วนคุณป้าตาบอดสนิท ทำให้ต้องมีการพึ่งพาผู้อื่นบ้าง ซึ่งจุ้ยเห็นมาตั้งแต่เด็ก ทั้งคู่มีปัญหาอย่างหนึ่ง คือ การเลือกเสื้อผ้า เพราะสีเสื้อผ้าเป็นกาลเทศะของคนไทย เช่น งานศพหรืองานแต่ง จึงต้องแต่งกายให้เหมาะสม แน่นอนว่าคนตาบอดไม่สามารถมองเห็นสีได้จึงต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือ ตอนช่วง ม.6 ขึ้นปี 1 จึงมีไอเดียว่าอยากทำนวัตกรรมเพื่อคนตาบอดให้เขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเวลาที่อยู่คนเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดธรรมดา ๆ ในตอนเริ่มต้นครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: แนวคิดแบบนี้ทำให้คนตาบอดได้สัมผัสกับนวัตกรรมที่ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดียิ่งขึ้น จึงมีการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมขึ้นมาภายใต้แบรนด์ที่มีคำว่าเบรลล์ด้วยใช่ไหมครับ? แล้วแบรนด์ที่ใช้คืออะไร?
คุณจุ้ย: จริง ๆ แล้วแบรนด์ชื่อ ONCE ครับ โดยด้านหน้าจะมีจุดอยู่ หลายคนอาจจะเรียกว่า ดอทวันซ์ โลโก้ก็มาจากอักษรเบรลล์ ซึ่งการใส่จุดไว้ด้านหน้าแสดงถึงว่าคำหลังจากนี้จะเป็นตัวอักษรตัวใหญ่ และคำว่า ONCE มาจากประโยคเริ่มต้นของนิทาน หรือ Once upon a time เพราะในทุกครั้งที่เราฟังนิทานเราจะได้รับข้อคิดดี ๆ กลับไป ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางแบรนด์จะมอบให้แก่ทุกคน ผ่านการสนับสนุน หรือทำกิจกรรมเพื่อคนตาบอด เราต้องการให้ลูกค้าได้รับสิ่งดี ๆ หรือข้อคิดบางอย่างกลับไป เพื่อนำไปพัฒนาตัวเอง และสร้างสังคมให้ดีขึ้น
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่าสินค้าของทาง .ONCE ณ วันนี้ มีเสื้อ และหน้ากาก เรียกว่าเป็นผลงานที่ออกมาจากความตั้งใจ และเป็นนวัตกรรมที่มีชื่อว่า Blindnovation ใช่ไหมครับ?
คุณจุ้ย: ใช่ครับ คำว่า BLINDNOVATION มาจากคำว่า Blind+Innovation ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่คนไม่รู้ว่าจะเรียกงานของเราว่าอะไร จึงคิดคำนี้ขึ้นมา สำหรับนวัตกรรมของ .ONCE อันนี้จะเรียกว่า Braille Tag ซึ่งคนตาบอดสามารถสัมผัสอักษรเบรลล์ที่มีลักษณะนูนขึ้นมาเป็นสามมิติบนเสื้อได้เลย โดยจะบอกสี และขนาดตามลำดับ ทำให้ผู้พิการทางสายตามาสามารถสัมผัสแล้วรู้สี และขนาดของเสื้อได้ด้วยตนเอง ซึ่งนี่เป็นนวัตกรรม BLINDNOVATION ที่ทางแบรนด์ .ONCE ผลิตขึ้นมา
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ทราบว่าได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงาน และหลายโครงการเลยใช่ไหมครับ
คุณจุ้ย: ใช่ครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: จากวันแรกที่เริ่มทำจนถึงวันนี้ก็ใช้เวลาไป 4 ปีแล้ว อยากทราบว่าเจออุปสรรคอะไรบ้าง เล่าให้ฟังได้ไหมครับ
คุณจุ้ย: จุ้ยเริ่มต้นธุรกิจนี้ตอนเรียนปี 1 อุปสรรคแรก คือ ความไม่รู้ จุ้ยไม่รู้เรื่องธุรกิจอะไรเลย จริง ๆ แล้วเป็นการเริ่มต้นโดยการสร้างไอเดียก่อน เราเริ่มต้นจากศูนย์ โดยที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาเงินทุนมาจากไหน จะขอพ่อแม่ก็ไม่มีให้เพราะตอนนั้นก็ยังลำบากอยู่ เลยไม่อยากรบกวนท่าน เงินเก็บก็มีไม่มาก ไม่เพียงพอต่อการเริ่มทำธุรกิจแน่นอน ก็เลยมองหาเงินทุนในการไปทำธุรกิจ บังเอิญตอนนั้นทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพซึ่งจุ้ยกำลังศึกษาอยู่ มีโครงการ “ไอเดียแลกล้าน” ก็เลยส่งไอเดียเข้าประกวด แล้วก็ได้รางวัลชนะเลิศ จึงได้เงินแสนมาตั้งต้น ต่อยอดธุรกิจมาได้จนถึงตอนนี้ โชคดีที่ในโครงการมีทีมที่ปรึกษาในด้านการทำธุรกิจด้วย ทำให้สามารถเดินต่อไปได้อย่างมีแนวทาง แต่แน่นอนว่าก็ต้องเกิดความล้มเหลวขึ้นบ้าง โดยในตอนแรกก็เริ่มต้นขายเสื้อหน้าร้าน แต่ไอเดียของเราเป็นไอเดียที่แปลก และทำเพื่อสังคม ซึ่งหลายคนไม่ได้สนใจ อีกทั้งยังมีกลุ่มคนที่เข้าใจ และไม่เข้าใจในสิ่งที่ทำ ซึ่งถ้าเข้าใจก็จะสนับสนุนเรา แต่คนที่ไม่เข้าใจจะเกิดคำถามว่าถ้าทำเพื่อสังคมทำไมยังเก็บเงินอยู่ และในตอนนั้นได้มีโอกาสเข้าไปขายในเฟรนด์ลี่ดีไซน์ ซึ่งมีโครงการเกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อผู้พิการ ก็ได้ไปร่วมใน Event นั้นด้วย แล้วก็เจอปัญหาว่า มีคุณป้าคนนึงมาผลักราวเราทิ้งแล้วบอกว่าหลอกลวงสังคมหรือเปล่า ทำไมถึงเอามาขายทำไมไม่เอามาแจกเลยล่ะ ตอนนั้นจุ้ยรู้สึกแย่กับการขายของมาก อาจเพราะเราไม่ค่อยได้เจอเหตุการณ์แบบนี้ทำให้เราตกใจมาก แต่ก็ได้รับกำลังใจจากคุณแม่ จึงได้มานั่งคิดทบทวน และตกตะกอนความคิดของตนเองว่าสิ่งที่ทำอยู่จะช่วยคนได้สักเท่าไร หลังจากนั้นก็เริ่มต่อยอดโดยสร้างโครงการ “ให้ด้วยกัน” ขึ้นมา เป็นโครงการที่มีโปรโมชันซื้อ 1 ให้ 1 คือ เมื่อซื้อเสื้อของ .ONCE 1 ตัว ทางโรงเรียนสอนคนตาบอดก็ได้จะรับเสื้อจาก .ONCE 1 ตัวด้วยเช่นกัน โครงการนี้ถือเป็นการเติบโตไปอีกขั้นของเรา ที่อยากจะช่วยคนให้มากขึ้นโดยตั้งเป้าหมายไปยังโรงเรียนสอนคนตาบอด และในตอนนั้น .ONCE สามารถรวมยอดที่มีผู้สนับสนุนเข้ามาได้เกือบพันตัวเลยครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่าทางแบรนด์ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อผ้า สี ดีไซน์ต่าง ๆ ทำให้ไม่ใช่แค่เพียงผู้พิการทางสายตาเท่านั้น คนทั่วไปก็สามารถใช้ได้ใช่ไหมครับ?
คุณจุ้ย: ใช่ครับ อยากให้มองว่าเราก็เป็นแบรนด์แฟชั่นแบรนด์นึงที่ทุกคนสามารถใส่ได้ หรือแสดงจุดยืนได้ ซึ่งแฟชั่นเองก็เป็นการบ่งบอกความเป็นตัวเอง ผู้ที่ใส่ก็แสดงออกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนตาบอด ซึ่งตัวเค้าเองก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ สุดท้ายแล้วคุณค่าไม่ได้กลับไปที่คนตาบอดเพียงเท่านั้น แต่ยังกลับมาที่ผู้สวมใส่ด้วย ซึ่งจุ้ยมอง .ONCE เป็นเหมือนสะพานกลางในการช่วยทำให้สังคมดีขึ้น
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดีจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่เลยใช่ไหมครับ แล้วตัว .ONCE เองก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือจนกลายเป็น ONCE Studio ไปแล้วใช่ไหมครับ
คุณจุ้ย: ใช่ครับ เราเติบโตมาจากการทำแบรนด์เสื้อผ้าเพียงอย่างเดียว และตอนนี้ก็เป็นโรงงานผลิตแล้ว ซึ่งเราผลิตให้กับอีกหลายแบรนด์ที่มีการช่วยเหลือเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตา โดยลูกค้าเจ้าแรกที่เบิกทางให้เราคือ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย โดยเสื้อโปโลก็จะมี Braille Tag เหมือนกับทางโรงงานของเรา แล้วก็ต่อยอดให้ตัวเองสามารถผลิตในแบบ mass มากขึ้น เพราะว่าการทำธุรกิจต้องมีสองแกน คือ ขายแต่ของแพงไม่ได้ เพราะจะได้ปริมาณน้อย ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการสินค้าให้มีราคาถูกและขายได้ปริมาณเยอะด้วย เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้กับธุรกิจ หากธุรกิจเราสามารถบริหารทั้งสองแกนนี้ได้ดี ก็จะทำให้ธุรกิจของเรามีความมั่นคงด้านการเงิน ซึ่งตรงนี้ก็จะส่งผลให้เราสามารถทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดียิ่งขึ้น ทำได้อย่างสม่ำเสมอ และยังทำให้ตัวเองยังอยู่ได้ในเชิงของการทำธุรกิจอีกด้วย
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่า ONCE Studio ช่วยให้ผู้พิการมีงานทำอย่างต่อเนื่อง และยึดเป็นอาชีพได้ ผมเข้าใจถูกไหมครับ?
คุณจุ้ย: ใช่ครับ ทางแบรนด์ก็สนับสนุนงานปัก จะสังเกตได้จาก Freedom Collection ที่จะมีการไปร่วมมือกับกลุ่มงานปัก และจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม โดยเราไม่ได้เน้นในด้านบริจาค แต่เน้นนำเงินของเราไปลงทุนเพื่อสร้างอาชีพให้คนตาบอดเหล่านี้
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ในตลาดปัจจุบันจะเห็นการร่วมมือของแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย ทาง .ONCE เองกับจับมือกับแบรนด์ปักจิตปักใจในการสร้างแฟชั่นขึ้นมาใช่ไหมครับ?
คุณจุ้ย: ใช่ครับ เนื่องจากเราทั้งสองแบรนด์มีเป้าหมายเหมือนกันว่าเราอยากที่จะทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ .ONCE และปักจิตปักใจทำสามารถนำมาผสมผสานกันได้ เพราะว่า .ONCE มีทรัพยากรในการออกแบบ มีโรงงานผลิต ในส่วนของปักจิตปักจิตก็มีกลุ่มคนตาบอดที่มีฝีมือ พอเรามาทำงานร่วมกันจึงทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้นไปอีก อีกทั้งยังสามารถขยาย และพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะส่งต่อออกไปให้ผู้บริโภคได้ การที่ผู้บริโภคได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณค่าแบบนี้จะทำให้องค์กรมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: อยากจะชวนคุยเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้หลาย ๆ องค์กรให้ความสำคัญกับ Digital Transformation และการนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจ ซึ่งทาง .ONCE ก็เน้นเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะว่าเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากนวัตกรรม ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไงก็ต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องใช่ไหมครับ?
คุณจุ้ย: ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความต้องการของผู้บริโภคในตอนนี้ไปอยู่ทางออนไลน์เสียเยอะ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ทำให้ผู้คนไม่ออกนอกบ้าน ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดถูกถ่ายโอนไปทางออนไลน์ เช่น ถ้าจะหาสินค้าของ .ONCE ผู้ซื้อก็จะ search คำว่าคนตาบอด หรือนวัตกรรมเสื้อเพื่อคนตาบอดก็จะสามารถค้นหาสินค้าของ .ONCE เจอทันที สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่า ความต้องการมีการย้ายที่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราจึงควรต้องตื่นตัวในการย้ายแพลตฟอร์มจาก offline ไปยัง online มากยิ่งขึ้นด้วย ในส่วนของการทำแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook เราต้องโฟกัสในการลงคอนเทนต์ให้มีรายละเอียดและเนื้อหาที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นทางรอดใหม่ของผู้ประกอบการหลาย ๆ คน โดยทางเราก็มีการลงคอนเทนต์เรื่องการขาย หรือการทำเพื่อสังคม รวมไปถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนตาบอดด้วย ซึ่งคอนเทนต์เหล่านี้ช่วยให้เพจของเราน่าติดตามมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งจะเป็นส่วนของ Website ที่ทางทีมตั้งใจทำขึ้นมา เพื่อที่จะให้รายละเอียดมากขึ้น แน่นอนว่าการอ่านใน Facebook เราจะได้ข้อมูลในส่วนหนึ่ง แต่เนื่องจากเราเป็นแบรนด์ เราจึงมีเรื่องราวมากมาย และเยอะกว่าเนื้อหาในโพสต์เพียงหนึ่งโพสต์ เพราะฉะนั้นถ้าลูกค้ากดเข้าไปอ่านใน Website ก็ได้จะรายละเอียดมากขึ้น นำไปสู่การปิดการขายที่มีคุณภาพมากยิ่งขั้น อีกทั้งยังได้ลูกค้าที่ดีเวลาเราทำธุรกิจที่ดี และแบรนด์เราก็มีความแตกต่างในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ทำให้เราเป็นเจ้าเดียวในตลาด ในยุคของ Digital Disruption ถ้าไม่สร้างความแตกต่าง ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ก็คงไม่รอด
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: เพราะฉะนั้นช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและให้ความรู้ รับฟังความคิดเห็นของลูกค้า ซึ่งการสร้างลูกค้า royalty ไม่ง่ายเลย ทางทีม .ONCE เก่งมาก ทีมงานประกอบด้วยคนหนุ่มสาวเสียเป็นส่วนใหญ่รึเปล่าครับ?
คุณจุ้ย: ทีมงานเป็นคนสองรุ่นเลยครับ ทางรุ่นใหญ่ที่มีประสบการณ์ก็จะเป็นคุณลุงที่ช่วยดูเรื่องของโรงงาน โดยมีในส่วนของคนรุ่นใหม่ก็จะรู้ถึงการใช้เทคโนโลยีมากกว่า ถ้าเปรียบเป็นอัตราส่วนของคนสองรุ่นก็คือ คนรุ่นใหม่ 60 รุ่นใหญ่ 40 ซึ่งการทำงานร่วมกันของคนสองรุ่นทำให้เราสามารถเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่าคุณจุ้ยมีปณิธานว่าเราสามารถใช้ความรู้ที่เรียนมาทำให้สังคมดีกว่านี้ อยากถามว่าด้วยแนวคิดนี้อยากจะทำอะไรต่อไป
คุณจุ้ย: แนวคิดนี้เป็นแนวคิดเกิดจากการคุยกับตัวเองว่า สิ่งที่เราเรียนมา เรามีความรู้ แต่บางคนอาจไม่มีแม้โอกาสที่จะเรียน เราจึงรู้สึกว่าอยากจะนำสิ่งที่ได้เรียนมา มาต่อยอดเพื่อสร้างสังคมให้ดีขึ้น อยากแบ่งปันความรู้ไปสู่การสร้างอาชีพ ไปสู่การทำให้สังคมเจริญเติบโตไปอย่างดี อย่างน้อยก็เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนตาบอด ซึ่งเป็นปณิธานตั้งแต่เรียนจบจนถึงปัจจุบันครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ฝากถึงผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เพราะบางคนก็ไม่รู้จะไปต่อยังไง
คุณจุ้ย: ช่วงนี้ทุกคนเหนื่อยและลำบากมาก จุ้ยเองก็รูสึกเหมือนกัน ณ ตอนนี้ความลำบากเป็นส่วนที่เราต้องนำมาสร้างเป็นกำลังใจ และแรงผลักดันให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ หาความต้องการใหม่ ๆ ในยุคปัจจุบัน แล้วปรับตัวให้ทัน ต้องยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ อย่ายึดติดกับความสำเร็จแบบเดิม ๆ และสำหรับคนที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจ จุ้ยมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดี เพราะว่าความต้องการเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลง เราสามารถที่จะเก็บเกี่ยวโอกาสได้เยอะ ถ้าเรามองวิกฤตตรงนี้ให้เป็นโอกาสได้ เราจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้รวดเร็วมาก ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้ และสู้ไปด้วยกันครับ
ผู้สนใจรับชม session นี้ย้อนหลัง สามารถเข้าไปชมได้ที่ Webinar Zone ในงาน ICHI
บทความนี้เขียนจากการสัมภาษณ์ นายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มุ่งถ่ายทอดจุดเน้น เจตนารมณ์ ตลอดจนหลักคิดของกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจ และคลายความกังวลให้แก่องค์กรธุรกิจ โดยคาดหวังว่า หลังจากกฎหมายบังคับใช้จะสร้างสมดุลด้านการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในสังคมไทย หากทุกฝ่ายเกิดความตระหนักและเข้าใจตรงกัน นั่นคือ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
01.04.2022
1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในมาตราที่เลื่อนการบังคับใช้ออกมา 2 ปี จะเริ่มมีผล แม้จะเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็สามารถเร่งดำเนินการให้องค์กรปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ได้ไม่ยาก โดย นายกำพล ศรธนะรัตน์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Data Protection Officer (DPO) และที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และประธานชมรม DPO ได้ให้หลักการ แนวทาง ตลอดจนขั้นตอนการปฏิบัติ ไว้ในที่นี้
20.04.2022
ปัจจุบันเรื่องของกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีบทบาท และเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งทุกองค์กรจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ภายในองค์กรอย่างเหมาะสม โดยการนำไปใช้ในองค์กรให้เหมาะสมนั้น มีหลากหลายมิติที่หลายฝ่ายในองค์กรจำเป็นที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อนำหลักกฎหมาย PDPA ไปใช้อย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด
05.05.2022