Startups

Innovation

Digital

17.01.2022

【ICHI TALK】SHIPPOP พุ่งเป้าสู่การเป็นยูนิคอร์นของไทย

SHIPPOP พุ่งเป้าสู่การเป็นยูนิคอร์นของไทย

ผู้ดำเนินรายการ: ขอต้อนรับเข้าสู่รายการ ICHI TALK ในวันนี้เราได้รับเกียรติจากผู้บริหารหนุ่มคนรุ่นใหม่ คุณโมชิ สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ CEO และ Co-founder จากบริษัท Shippop จำกัด อันดับแรกอยากจะถามถึงเรื่องแรงบันดาลใจครับ อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นนักธุรกิจ การที่ครอบครัวทำธุรกิจก่อสร้างมีผลกับเป้าหมายในการเป็นนักธุรกิจไหมครับ

คุณโมชิ: สำหรับผม การรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรตั้งแต่เด็ก รวมถึงการที่ทำครอบครัวทำธุรกิจก่อสร้างนั้นมีความเกี่ยวข้องครับ เพราะช่วยให้ผมได้ทักษะด้านการค้าขายมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากในตอนเด็กผมต้องตื่นมาช่วยที่บ้านขายของตั้งแต่เช้า ได้ฝึกทักษะการพูดคุยกับลูกค้า และกล้าแสดงออก เมื่อเรามีทักษะตรงนี้ก็เริ่มสนุกกับการหาเงินด้วยการขายของ แต่หลังจากนั้นก็ได้ไปเจอธุรกิจเครือข่าย ซึ่งผมเองก็ได้ลองเข้าไปศึกษาดู ทำให้เห็นว่าธุรกิจเครือข่ายก็เป็นการขายที่ดีอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมเองได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “พ่อรวยสอนลูก” โดยมีการอธิบายถึงว่าการทีจะมีอิสรภาพทางการเงินจะต้องเป็นเจ้าของกิจการหรือนักลงทุน ก็พยายามหาทางเพื่อที่จะเป็นคน ๆ นั้นให้ได้ เป้าหมายของผมคืออยากอยู่เฉย ๆ แล้วมีเงิน ทำให้ผมอยากเป็นเจ้าของกิจการครับ

ผู้ดำเนินรายการ: อยากถามถึงมุมมองในเรื่องของ “อายุ” ว่าการที่เป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยดีกว่าหรือมีความแตกต่างกับการทำตอนอายุมากไหมครับ

คุณโมชิ: สำหรับผมอายุไม่สำคัญเท่าประสบการณ์ครับ โดยในวันนี้ใครก็สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้โดยไม่เกี่ยวว่าจะอายุน้อยหรือมาก ส่วนตัวผมเองเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อยและยังไม่มีประสบการณ์ แน่นอนว่าสามารถทำได้ แต่การทำงาน การวางแผนอาจจะไม่ค่อยเป็นระบบระเบียบ รวมไปถึงการจัดการอารมณ์ของตัวเองด้วย ในตอนนี้ในทีมและพาร์ทเนอร์ของผมมีผู้ใหญ่หลายท่านที่มีประสบการณ์จากองค์กรใหญ่ ๆ ร่วมทำงานด้วยกัน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความเก่งและความถนัดที่แตกต่างกัน แต่สำหรับคนที่จะเริ่มธุรกิจตอนอายุเยอะผมก็มองว่าสามารถทำได้เพราะว่ามีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว ทำให้รู้ว่าทำแบบไหนดีหรือไม่ดี อีกสิ่งหนึ่งคือการทำงานร่วมกันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์ของแต่ละฝ่ายเพื่อมาสร้างผลงานที่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน

ผู้ดำเนินรายการ: การประสบความสำเร็จในปัจจุบันคิดว่าเกิดจากจุดแข็งอะไรในตัวเองครับ

คุณโมชิ: จุดแข็งของผมก็คือลงมือปฏิบัติจริง คิดแล้วลงมือทำ รวมถึงการยอมรับการเปลี่ยนแปลง และหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ ดั่งคำว่า “น้ำไม่เต็มแก้ว” ครับ ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามเราต้องรับให้ได้และเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ให้เร็ว ตัวอย่างเช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ที่ผมทำอยู่นี้ เราไม่ได้แพลนเป็นรายปีหรือรายสามปี แต่เรามีเปลี่ยนแปลงทุกเดือน หรือทุก ๆ สามเดือนเลยทีเดียว

ผู้ดำเนินรายการ: หลักในการเลือกธุรกิจที่ทำส่งผลต่อความสำเร็จในปัจจุบันและอนาคตมากน้อยแค่ไหน

คุณโมชิ: สำคัญมากครับ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรต้องมีการวางแผน ในตอนแรกผมมีสตาร์ตอัปที่อยากทำเกือบ 20 ตัว และเคยทำมากว่า 100 ธุรกิจแล้วครับ แล้วก็ได้มาดูว่าตัวไหนที่สร้างรายได้และยั่งยืน เมื่อได้ไอเดียธุรกิจตัวปัจจุบันก็ทำ business plan เพื่อดูว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จะได้เงินจาก project นี้เท่าไร ซึ่ง business model ตัวนี้ได้เงินเยอะที่สุดก็เลยเลือกที่จะทำต่อ

ผู้ดำเนินรายการ: business plan ในที่นี้คือโมเดลแคนวาส หรือแบบฟูลฟิลที่มีพวก feasibility ด้วยครับ

คุณโมชิ: การเริ่มต้นทำสตาร์ตอัปหรือการทำธุรกิจเติบโต ผมแนะนำอยู่ 2 สิ่ง คือ ลีนแคนวาส ที่จะสามารถบอกถึงลูกค้าเป้าหมาย ปัญหาคืออะไร แก้ไขอย่างไร และจุดแตกต่างของคุณคืออะไร รวมถึงตัวชี้วัด ช่องทางในการจัดจำหน่าย ต้นทุน และวิธีการสร้างรายได้ อีกสิ่งคือการทำ business plan เช่น รายได้จะมาจากอะไร เงินเดือนพนักงาน และที่สำคัญคือต้องกำหนดเงินเดือนของตัวเองด้วย KPI และเป้าหมายในการทำธุรกิจ

ผู้ดำเนินรายการ: ประสบการณ์การทำงานในอดีตสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรครับ

คุณโมชิ: ประสบการณ์ทุกอย่างได้นำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมดเลยครับ ผมเชื่อในคำพูดหนึ่งของสตีฟจ็อบส์ที่ว่า “Connect the dot” ทุกสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตเรามันจะเชื่อมต่อกัน โดยทักษะแรกที่นำมาใช้คือการทำ SEO ของบริษัท SHIPPOP เมื่อค้นหาคำว่าส่งออก ก็จะเจอ SHIPPOP อยู่ในหน้าแรก ในส่วนของการทำเว็บไซต์ผมก็เป็นคนเขียนโปรแกรมขึ้นมาเอง ในส่วนของทักษะเรื่องการขายตรง ผมนำมาประยุกต์ใช้เป็นโปรแกรมชื่อ Referral หรือก็คือการแนะนำต่อเพื่อให้ได้รางวัล แบบที่คือการทำการตลาดแบบปากต่อปากมาจากทักษะตอนรับเติมเงิน โดยก้าวแรกของ SHIPPOP ก็คือการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก

ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้อธิบายคติที่ว่า “ไอเดียดีแค่ไหนยังไงก็ต้องลงมือทำ” ให้ฟังหน่อยครับ

คุณโมชิ: สำหรับผมแล้วไอเดียดีแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่าลงมือทำ เพราะว่าไอเดียใครก็คิดได้ แต่เมื่อลงมือทำแต่ละคนจะพบเจอปัญหาที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็จะมีวิธีการแก้ไขปัญหากันคนละแบบ สำหรับผมแล้วไอเดียเป็นสิ่งที่ถูกมาก ๆ ครับ แต่การลงมือทำให้ประสบความสำเร็จนี่แหละเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ผู้ดำเนินรายการ: การทำสตาร์ตอัปแน่นอนว่าการที่จะประสบความสำเร็จมีเพียง 5% เท่านั้น และเมื่อล้มก็ต้องลุกให้ไว อยากทราบว่ามีวิธีการป้องกันหรือลดการบาดเจ็บจากการล้มเหลวได้อย่างไรบ้างครับ

คุณโมชิ: วันแรกที่ผมเริ่มทำสตาร์ตอัปผมไม่ได้ลาออกจากงานประจำ ผมใช้เวลาว่างนอกเหนือจากเวลางานมาทุ่มเทให้กับการทำสตาร์ตอัป เท่ากับว่าผมก็จะมีรายได้สองทาง ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครที่ทำแค่อาชีพเดียวแล้วครับ เพราะเราสามารถสร้างรายได้บนโลกออนไลน์ได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นการเขียนนิยายขายอีบุ๊ค ซึ่งเมื่อธุรกิจมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จผมถึงได้ลาออกจากงานประจำ แต่ก็มีบอกทางฝ่ายบุคคลไว้ว่าหากไปไม่รอดจะกลับมาสมัครงานใหม่ ทำให้หากผมเจ๊งก็ยังสามารถจะกลับไปทำงานประจำได้ หรืออีกทางหากไม่ต้องการกลับไปทำงานประจำก็ยังสามารถทำงานฟรีแลนซ์อื่น ๆ ได้

ผู้ดำเนินรายการ: ปัจจัยอะไรที่จะทำให้สตาร์ตอัปประสบความสำเร็จได้ครับ

คุณโมชิ: อันดับแรกผมมองว่าการทำธุรกิจที่ดีเรื่องของ connection มีความสำคัญมาก สองคือ partnership จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันแต่ละธุรกิจมักจะมีการร่วมงานกับบริษัทอื่นอยู่เสมอ เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าของกันและกันครับ สามคือการมี mentor หรือนักลงทุนที่ดี ซึ่งจะช่วยให้คุณเติบโตได้ สี่คือทีมงาน ต้องบอกว่าที่ผมทำ SHIPPOP ประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่แค่เพราะผมเพียงคนเดียวแต่เป็นเพราะทีมของผมด้วย

ผู้ดำเนินรายการ: mentor คนสำคัญที่เข้ามาช่วยแนะนำและให้คำปรึกษากับ SHIPPOP อยากทราบว่าบทบาทของ mentor เหล่านี้มีความสำคัญต่อ SHIPPOP แค่ไหน

คุณโมชิ: mentor ของ SHIPPOP ในช่วงแรก คือ คุณป้อม ภาวุธ หลังจากนั้นเราก็มีนักลงทุนหลาย ๆ คนที่เข้ามาร่วมลงทุนและให้คำปรึกษาที่ดีมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์ไทย หรือแม้กระทั่งเพื่อน ๆ ที่เข้ามาทำงานด้วยกันหลายคนก็ให้คำแนะนำค่อนข้างดี ธุรกิจถึงเติบโตได้

ผู้ดำเนินรายการ: เวลาเจอปัญหามีกระบวนการในการจัดการปัญหาอย่างไรบ้าง

คุณโมชิ: ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนใจร้อน เมื่อมีปัญหาเข้ามาผมจะรีบแก้โดยทันที ซึ่งก็เป็นข้อเสียของผมเหมือนกัน ซึ่งวิธีของผมคือการกินไอศกรีมครับ กินเพื่อให้ใจเย็นลงแล้วใช้เวลานั่งคิดการแก้ปัญหามากขึ้น หรือไปทำกิจกรรมอื่น เช่น การอาบน้ำ ไม่งั้นก็ปล่อยให้ความคิดตกผลึกสัก 2-3 วัน ซึ่งล่าสุดที่ผมเพิ่งจะคิดได้คือ ถ้าเกิดปัญหาแล้วเรายังวนอยู่ในปัญหาเราจะมองไม่เห็นวิธีแก้ เราก็ยังคงแก้ปัญหาในรูปแบบเดิม ๆ ฉะนั้นให้ลองเอาตัวเองออกมาจากปัญหาแล้วมองกลับไปในภาพที่กว้างขึ้น เช่น มองว่าเป็นปัญหาของเพื่อนเราจะแนะนำเพื่อนอย่างไร

ผู้ดำเนินรายการ: วิธีคิดและวิธีทำที่ทำให้ SHIPPOP ยังสามารถเติบโตและเดินหน้าต่อไปได้ในสภาวะโรคระบาดเช่นนี้คืออะไรครับ

คุณโมชิ: อันนี้ผมว่าอยู่ที่มุมมองด้วยครับว่าเมื่อมีโรคระบาดเรามองว่าเป็นปัญหาหรือโอกาส ส่วนตัวผมมองว่าโควิดเป็นโอกาส เพราะทุกคนก็ยังคงต้องดำเนินชีวิตต่อไปเหมือนเดิม อันดับแรกผมรู้ว่ามีคนตกงานก็เลยสร้างแฟรนไชส์ขึ้นมาเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ โดยที่แจกให้ฟรีเลยทำให้คนมีอาชีพและผมเองก็มีหน้าร้านรับฝากพัสดุไปด้วย เรียกว่าวินวินกันทั้งคู่ อีกทั้งในยุคแบบนี้สิ่งที่ขายได้ดีก็คือประกันครับ ผมเลยเอาประกันโควิดไปขายตามหน้าร้านที่มีก็ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งตรงนี้ทำให้เห็นได้ว่าแม้การซื้อขายของทางออนไลน์จะแพร่หลายแล้วก็ยังมีการซื้อของแบบออฟไลน์อยู่ จึงมองเห็นโอกาสในการนำของออนไลน์มาขายในเชิงออฟไลน์ ซึ่งต้องบอกว่าพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์ก็ยังคงเดิม เราเพียงแค่มองกลับมายังพื้นฐานเท่านั้นครับ

ผู้ดำเนินรายการ: วางแผนอนาคตของ SHIPPOP ไว้อย่างไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

คุณโมชิ: เป้าหมายแรกของผมคืออยากเป็นสตาร์ตอัปที่อยู่ใน 5% ที่รอด ต่อมาเป้าหมายในระยะยาวที่สุดคืออยากจะเป็นยูนิคอร์น หรือบริษัทมีมูลค่า 30,000 ล้าน ในระหว่างทางที่ผมมักจะบอกกับนักลงทุนคือ ผมจะมีบริการต่าง ๆ มากมาย ทั้งการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ การเก็บเงินปลายทาง การมีแฟรนไชส์ และการช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกคน เช่น การนำสินค้าทางออนไลน์มาวางที่หน้าร้านมากขึ้น และมี SHIPPOP ในทุกประเทศของ Southeast Asia ทั้งหมด และอาจจะเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ ตามลำดับ

ผู้ดำเนินรายการ: อยากทราบว่าการมีคู่แข่งทำให้สนุกกับการทำงานไหม แล้วช่วยให้เราได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ไหมครับ

คุณโมชิ: การที่ยิ่งมีคนจะทำให้เห็นว่าตลาดมีขนาดใหญ่ แต่เราไม่ได้มองว่าทุกคนเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าทุกคนสามารถเป็นคู่ค้ากันได้ โดยการแลกเปลี่ยนความถนัดของและข้อมูลของแต่ละคนได้ครับ เพราะในทุก ๆ ธุรกิจจะมีแค่ที่หนึ่ง สอง และสามเท่านั้นครับ

ผู้ดำเนินรายการ: ด้วยความที่เป็นคนเปิดกว้าง ชอบช่วยเหลือคน ผู้ชมทุกคนก็มีโอกาสที่จะเป็นลูกค้าและคู่ค้าของทาง SHIPPOP ได้ใช่ไหมครับ ทำอย่างไรครับ

คุณโมชิ:ใช่ครับ ถ้าหากอยากเป็นลูกค้าของ SHIPPOP ให้เข้าเว็บของ SHIPPOP หรือจะดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หรือเดินไปหน้าร้านของทาง SHIPPOP ที่มีสาขามากกว่า 1000 แห่งทั่วประเทศ แต่ถ้าหากอยากเป็นคู่ค้า สามารถเปิดแฟรนไชส์ได้ โดยเริ่มต้นเพียงแค่ 3,000 บาทเท่านั้นครับ และมี 15,000 89,000 บาทตามลำดับ เราเองเพิ่งได้รับรางวัลแฟรนไชส์ที่ดีที่สุดในปีนี้ครับ อีกทางคือหากคุณมีไอเดียและอยากเป็นคู่ค้ากับทาง SHIPPOP สามารถทำสไลด์มานำเสนอได้เลยครับ เรายินดีที่จะเป็นพาร์ทเนอร์กัน หรือถ้าหากไอเดียดีมาก ๆ ผมอาจจะลงทุนให้ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้ด้วยเพื่อที่จะให้ธุรกิจของคุณเติบโตขึ้นและมาเป็นส่วนหนึ่งด้วยกันครับ

RECOMMEND