EdTech
COVID-19
Startups
Leadership
Innovation
04.03.2022
รายการ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ
ผู้ดำเนินรายการ: แขกรับเชิญในวันนี้เป็นผู้นำของ EdTech Startup บนแพลตฟอร์มออนไลน์ Globish โดยใช้เทคโนโลยีผลักดันคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญในปัจจุบันที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ขอต้อนรับคุณจุ๊ย ชื่นชีวัน วงษ์เสรี Co-founder บริษัท Globish และอยากให้เล่าถึง Globish สักเล็กน้อยค่ะ
คุณจุ๊ย: Globish เป็นแพลตฟอร์มการเรียนภาษาออนไลน์ค่ะ โดยมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เน้นไปทางการฟังและการพูดซึ่งเป็นปัญหาของคนไทยมาตลอด แพลตฟอร์มของเรานักเรียนสามารถเข้ามาเลือกเวลาเรียนได้ 24 ชั่วโมง และสามารถเลือกผู้สอนได้จากทั่วโลก โดยมีทั้งชาวเอเชีย ชาวยุโรป และเจ้าของภาษาค่ะ อีกทั้งยังมีหลักสูตรสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นการเรียนตามระดับของผู้เรียนแต่ละคน
ผู้ดำเนินรายการ: จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้เริ่มต้นเมื่อไรคะ
คุณจุ๊ย: เราเปิดมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งในตอนนั้นมีความคิดว่าการเรียนผ่านระบบวีดิโอคอลหรือ Zoom จะเป็นที่แพร่หลายอย่างแน่นอน เราจึงเป็นคนแรก ๆ ที่ทำสิ่งนี้ขึ้นมา
ผู้ดำเนินรายการ: จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งธุรกิจคืออะไรคะ แล้วทราบได้อย่างไรว่าตัวเราอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
คุณจุ๊ย: ส่วนตัวเป็นคนชอบเรียนภาษาอังกฤษ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้เรียนเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ แต่พอเรียนจบกลับพบว่าเราไม่สามารถพูดสื่อสารได้เท่าที่เราต้องการ ในขณะเดียวกันค่าเรียนภาษาอังกฤษในสถาบันใหญ่ ๆ ก็มีราคาสูงมากถึงหลักแสน และทางบ้านก็ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าเรียนเท่านี้ไหว จึงเป็นปัญหาที่เรามีมาโดยตลอด จนกระทั่ง Co-Founder ที่ชื่อว่า คุณทรอย ธกานต์ อานันโทไทย คุณทรอยเป็นประธานองค์กรนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนที่อายุน้อยที่สุดในโลก คือ อายุ 18 ปี ได้มีการส่งอาสาสมัครต่างชาติไปตามชนบทของประเทศไทย และพบว่าครูภาษาอังกฤษในเมืองไทยยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ทำให้ไม่สามารถพัฒนาคนไทยให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ พอคุณทรอยจบจากการเป็นอาสาสมัครก็ได้เจอ alumni ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น และได้เล่าให้ฟังว่าที่ประเทศญี่ปุ่น การเรียนออนไลน์เป็นที่แพร่หลายมากอยากให้ลองดูโมเดลและนำมาทำในประเทศไทย ซึ่งทรอยก็ได้มาชวนทำธุรกิจ ตอนนั้นตัวเราเองก็ไม่ได้มีคำถามอะไรเลย เพราะรู้สึกว่านี่เป็นธุรกิจแห่งอนาคต เพราะสิ่งนี้สามารถแก้ pain point ของเราได้ จึงเชื่อว่าจะสามารถแก้ pain point ของคนทั้งประเทศได้เช่นเดียวกัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นและเราก็ได้ทำ Globish มาตั้งแต่วันนั้นเลยค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: คุณจุ๊ยเรียนจบด้านบริหารธุรกิจโดยตรงเลยรึเปล่าคะ
คุณจุ๊ย: เรียนจบบริหารธุรกิจระหว่างประเทศค่ะ ก็เลยไม่แน่ใจว่าตรงสายรึเปล่า แต่คิดว่าในการเริ่มธุรกิจไม่มีที่ไหนสอนหรอกว่าต้องเริ่มยังไง เราก็ลองผิดลองถูกและค่อย ๆ ปรับแผนธุรกิจไปเรื่อย ๆ จนธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้ค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ช่วยเล่าเรื่องราวตอนเริ่มต้นธุรกิจว่าฝ่าฟันอุปสรรคอะไรมาบ้างคะ
คุณจุ๊ย: จุ๊ยกับทรอยเจอกันในแคมป์ Asian Leadership Academy ซึ่งในตอนนั้นมีวิทยากรมาพูดถึงเรื่อง Social Enterprise ซึ่งมี concept อยู่ตรงกลางระหว่างธุรกิจและการทำเพื่อสังคม ซึ่งตอนนั้นเราทั้งคู่ชอบ concept นี้มากเพราะเราทั้งสองมีเป้าหมายว่าอยากจะทำให้การศึกษาไทยดีขึ้น แต่เราก็ไม่อยากขอเงินบริจาค และอยากทำให้ธุรกิจของเรามั่นคงและดำเนินต่อไปได้ และเมื่อคิดต่อว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการช่วยคือใคร ก็คือผู้ที่มีรายได้น้อยและไม่สามารถจ่ายค่าเรียนภาษาอังกฤษแพง ๆ ได้ concept ในตอนนั้นก็คือ “ภาษาอังกฤษที่ถูกที่สุดในประเทศไทย” ในตอนนั้นราคาอยู่ที่ 80 บาทต่อ 25 นาที ทำให้ค่าตอบแทนครูเองก็ไม่ได้สูง แต่หลังจากนั้นก็มีคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาในราคาที่ถูกกว่า เราเองจึงคิดว่าถ้าเราให้ค่าตอบแทนครูน้อยเกินไปครูที่มาสอนก็อาจจะไม่ได้มีพลัง ความสามารถ และประสบการณ์ในการสอนมากเท่าไร หลังจากนั้นจึงได้ปรับแผนธุรกิจให้เป็น “คอร์สภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด” แทน จึงปรับแผนธุรกิจมาสู่ตลาด premium ซึ่งตัวเองได้ไปสัมภาษณ์คนที่เรียนภาษาอังกฤษ แล้วพบว่าจริง ๆ แล้วผู้คนไม่ได้อยากเรียนภาษาอังกฤษ เพียงแค่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยภาษาอังกฤษ
ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อพบเจอกลุ่มเป้าหมายจากการสัมภาษณ์ อยากทราบว่าในตอนแรกวางกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นคนกลุ่มไหนคะ
คุณจุ๊ย: กลุ่มเป้าหมายในตอนแรกคือพนักงานร้าน fast food ที่อยากพัฒนาภาษาอังกฤษ เนื่องจากต้องทำงานเป็นกะจึงไม่สามารถเรียนภาษาอังกฤษตามสถาบันทั่วไปได้ รวมถึงค่าเรียนต้องถูกมากพอที่จะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถจ่ายไหว
ผู้ดำเนินรายการ: หลังจากที่จับกลุ่มเป้าหมายได้ ตั้งแต่ตอนนั้นจนตอนนี้ก็ยังเป็นกลุ่มคนวัยทำงานเหมือนเดิมใช่ไหมคะ
คุณจุ๊ย: ใช่ค่ะ ก็ตั้งแต่ first jobber อายุ 25 จนถึงระดับผู้บริหารอายุ 40 กว่าเลยค่ะ แต่ทางเราจะเน้นเรื่องภาษาอังกฤษเพื่อการทำงานโดยเฉพาะ
ผู้ดำเนินรายการ: อยากทราบว่าในการทำธุรกิจ การหากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญมากไหมคะ
คุณจุ๊ย: สำคัญมากที่สุดเลยค่ะ เพราะการเลือกกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่แค่ว่าคิดแล้วเลือก ซึ่งในตอนแรกตัวเองก็เป็นคิดที่แค่คิดว่าจะเลือกเป็นกลุ่มเป้าหมายไหน แต่หลังจากนั้นก็คิดว่าต้องมีวิธีการในการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่การนั่งเทียน เราเลยเจอ Design Thinking และ Empathy คือการสัมภาษณ์ พยายามเข้าใจเขาไม่ใช่แค่ว่าทำไมถึงมาเรียนภาษาอังกฤษ แต่ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแรงผลักดัน
ผู้ดำเนินรายการ: การเริ่มหาเงินทุนในการก่อตั้งธุรกิจสตาร์อัพนั้นทำอย่างไรบ้าง ได้ยินว่ามีการไป pitching บ่อยมาก ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ
คุณจุ๊ย: ตอนแรกยังเป็นเด็กจบใหม่ก็ไม่รู้อะไร อาจารย์ชวนไป บอกว่าเป็นงานที่เอาคนไทยและคนสิงคโปร์มา pitch ด้วยกัน พอ pitch เสร็จนักลงทุนก็ถามว่าอยากได้เงินลงทุนเท่าไร หรือว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ซึ่งตอนนั้นเราก็เด็กมากตอบไปว่าไม่ทราบค่ะว่าจะต้องขอเท่าไรหรือควรเอาเงินไปทำอะไร แต่เราไม่เคยปล่อยให้โอกาสหลุดมือ เราคว้าทุกโอกาสไม่ว่าจะเล็กใหญ่ ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็ได้เจอกับนักลงทุนที่อยากจะเป็น mentor ให้เรา ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำว่าถ้าเป็นโมเดลเพื่อสังคมไม่ไหวหรอกให้ลองปรับมาเป็นสตาร์ตอัพ ซึ่งตอนนั้นเราเองก็ยังไม่รู้จักว่าคืออะไร ทางนั้นเลยนัดให้มาเจอกันทุกอาทิตย์เพื่อสอนเรื่องการบริหารธุรกิจ หลังจากนั้นเขาก็ชวนเราไป audition รายการเสือติดปีกที่มีคุณตัน อิชิตัน และอากู๋ เจ้าของแกรมมี่เป็นคนให้เงินลงทุน ซึ่งเราก็ได้ไปออกรายการ และได้เงินลงทุนก้อนแรกมาค่ะ หลังจากนั้นก็ได้มีการหานักลงทุนไทยและต่างชาติ และได้มีการระดมทุนแบบรอบ Series A
ผู้ดำเนินรายการ: มีการ pitch มาจนถึงปัจจุบันเพื่อการต่อยอดในการขยายธุรกิจไหมคะ
คุณจุ๊ย: ใช่ค่ะ แต่วิธี pitch ก็จะเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราจะ pitch เรื่องปัญหาและ solution ในการแก้ ในตอนนี้เราก็จะ pitch ว่าธุรกิจของเราเติบโตเป็นอย่างไร ตัวเลขเป็นอย่างไร ซึ่งเราก็จะเน้นตัวเลขเยอะขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ: ในช่วงโควิดมีธุรกิจการเรียนออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย คุณจุ๊ยมีเทคนิคอะไรที่ทำให้บริษัทสามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบันคะ
คุณจุ๊ย: เทคนิคก็คือการเข้าใจลูกค้า จุ๊ยเชื่อว่าที่หลายคนเลือก Globish เพราะเราไม่ได้มีการเรียนการสอนแบบเดียว หลายสถาบันที่ต่อยอดมาจากสถาบันแบบออฟไลน์ก็ยังคงมีความติดขัดในการทำเป็นออนไลน์ เช่น หากจะจองเวลาก็อาจจะต้องโทรเข้าไปเพื่อขอให้คนส่งลิงก์เรียนให้ เป็นต้น แต่ทางเรานั้นมีแพลตฟอร์มในการจองเวลา สามารถเลือกเวลาได้ 24 ชั่วโมง เลือกครูผู้สอนได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรามี product ecosystem คือ เราไม่ได้จำกัดว่าเป็นการเรียนแบบตัวต่อตัว หรือแบบกลุ่ม แต่นักเรียนของเราจะได้เรียนทั้งแบบตัวต่อตัว แบบกลุ่มเล็ก(คนไทยด้วยกัน) กลุ่มใหญ่(นานาชาติ) รวมทั้ง e-Learning, workshop เพราะฉะนั้นนักเรียนที่เข้ามาจะได้ฝึกทักษะทุกอย่างในด้านการพูด ถือได้ว่าเรามี product ecosystem ที่ครบที่สุดในประเทศไทยตอนนี้
ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่า Globish พัฒนานวัตกรรมมาโดยตลอด อยากทราบว่าครั้งไหนเป็นช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการพัฒนานวัตกรรมของ Globish
คุณจุ๊ย: ถ้าเป็นเรื่องนวัตกรรมก็มีการพัฒนาต่อยอดมาเรื่อย ๆ แต่ก่อนเรามองเห็นเทรนด์เรื่อง VDO Calling เราก็เลยเลือกที่จะทำก่อน รอบนี้เช่นเดียวกันเราเห็นเทรนด์ของ Metaverse ซึ่งเราเชื่อว่าหลังจากนี้คนจะเปลี่ยนมาใช้เวลากับ VR และอยู่ใน Metaverse มากขึ้น ซึ่งในตอนนี้เรามีการให้นักเรียนเข้ามาเรียน workshop ใน Metaverse โดยมีอวตารเป็นของตัวเองและพูดคุยกับเพื่อนใน workshop ซึ่งมีงานวิจัยกล่าวว่าสิ่งนี้ช่วยลดความวิตกกังวลของนักเรียนได้
ผู้ดำเนินรายการ: อันนี้ถือว่าเป็นการตั้งเป้าหมายในอนาคตของ Globish เลยไหมคะว่าเราจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้
คุณจุ๊ย: เรามองว่าเทรนด์นี้ยังไงก็มา เพราะฉะนั้นเราอยากให้คนไทยเรียนรู้ให้เร็วที่สุด
ผู้ดำเนินรายการ: มีเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของ Globish ไหมคะ
คุณจุ๊ย: ถ้าในระยะสั้น ก็คืออยากขยายสาขาวิชาที่จะต้องใช้เป็นทักษะในการใช้ชีวิตนอกเหนือจากการเป็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับทางด้านภาษา เช่น วิชาการเงิน การพูดในที่สาธารณะ การดูแลสุขภาพจิต ในระยะยาว คือ อยากให้ทุกคนสามารถมาเรียนได้ฟรี โดยอยากจะพัฒนาแผนธุรกิจให้คนที่อยากจะพัฒนาตัวเองสามารถพัฒนาตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินก่อน แต่เมื่อเขาสามารถพัฒนาตัวเองสำเร็จ และหางานทำได้ก็มาจ่ายเงินทีหลัง หรือผู้จ้างงานจะมาจ่ายเงินแทนก็ได้ ส่วนของระยะสั้นอีกข้อ คือ เรากำลังขยายเข้าไปยังในโรงเรียน เพราะเราอยากให้นักเรียนพัฒนาภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับประถมศึกษา
ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้เล่าถึงแนวคิดในการตั้งเป้าหมาย หากว่าเราหาเป้าหมายไม่เจอจะหาแนวคิดในการศึกษาได้อย่างไรบ้าง มองหากลุ่มเป้าหมายอย่างไร
คุณจุ๊ย: ก่อนจะตั้งเป้าหมายสิ่งสำคัญ คือ การรู้จักตัวเอง ถ้ารู้จักตัวเองเราก็จะสามารถวางเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่น อยากมีไลฟ์สไตล์แบบไหน อยากทำอะไรให้กับโลกใบนี้ อยากทำงานแบบไหน การรู้จักตัวเองและการวางเป้าหมายที่ถูกสำหรับตัวเองนั้นสำคัญมาก
ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ช่วยฝากข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพที่กำลังต่อสู้กับสถานการณ์ของโควิดในยุคนี้สักเล็กน้อยค่ะ
คุณจุ๊ย: เป็นกำลังใจให้ค่ะ ถึงแม้ว่าธุรกิจเราที่เป็นการเรียนออนไลน์จะดูเหมือนว่าได้รับผลกระทบทางบวก แต่เราเองก็ได้รับผลกระทบทางลบเช่นเดียวกัน ทั้งการเปิดเทอมปิดเทอม หรือการที่เด็กเบื่อการเรียนออนไลน์ เราเองก็ต้องปรับตัวเยอะมาก ๆ เช่นเดียวกัน อยากฝากไว้ว่าตอนนี้เราอยู่ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมันเร็วมากสิ่งที่เราต้องทำ คือ เดินตามโลกนี้ให้ทัน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขอให้พยายาม และเรียนรู้ และขอให้มีกำลังใจกับตัวเองเยอะ ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้ฝากแพลตฟอร์มออนไลน์ Globish ว่าจะสามารถติดตามหรือสมัครได้ที่ช่องทางไหนบ้างคะ
คุณจุ๊ย: เรามี facebook “GLOBISH ภาษาอังกฤษสำหรับวัยทำงาน” รวมถึงของเด็กคือ “GLOBISH KIDS” เปิดเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ต่อไปก็จะมีภาษาจีนด้วย หรือจะเข้ามาที่เว็บไซต์ www.globish.co.th ก่อนสมัครสามารถโทรเข้ามาปรึกษา และทดสอบภาษาอังกฤษก่อนได้ เราจะมีที่ปรึกษาแนะนำว่าควรจะเรียนคอร์สไหน ระดับไหน ค่าใช้จ่ายจะประมาณเท่าไร
ผู้สนใจรับชม session นี้ย้อนหลัง สามารถเข้าไปชมได้ที่ Webinar Zone ในงาน ICHI
บทความนี้เขียนจากการสัมภาษณ์ นายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มุ่งถ่ายทอดจุดเน้น เจตนารมณ์ ตลอดจนหลักคิดของกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจ และคลายความกังวลให้แก่องค์กรธุรกิจ โดยคาดหวังว่า หลังจากกฎหมายบังคับใช้จะสร้างสมดุลด้านการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในสังคมไทย หากทุกฝ่ายเกิดความตระหนักและเข้าใจตรงกัน นั่นคือ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
01.04.2022
1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในมาตราที่เลื่อนการบังคับใช้ออกมา 2 ปี จะเริ่มมีผล แม้จะเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็สามารถเร่งดำเนินการให้องค์กรปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ได้ไม่ยาก โดย นายกำพล ศรธนะรัตน์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Data Protection Officer (DPO) และที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และประธานชมรม DPO ได้ให้หลักการ แนวทาง ตลอดจนขั้นตอนการปฏิบัติ ไว้ในที่นี้
20.04.2022
ปัจจุบันเรื่องของกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีบทบาท และเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งทุกองค์กรจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ภายในองค์กรอย่างเหมาะสม โดยการนำไปใช้ในองค์กรให้เหมาะสมนั้น มีหลากหลายมิติที่หลายฝ่ายในองค์กรจำเป็นที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อนำหลักกฎหมาย PDPA ไปใช้อย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด
05.05.2022