COVID-19
MedTech
Startups
Innovation
Digital
Others
24.03.2022
รายการ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ และร่วมแชร์ประสบการณ์ รวมถึงข้อคิดดี ๆ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรพลาด
ผู้ดำเนินรายการ: ประเทศไทยในทุกวันนี้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีหนึ่งธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาและตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ดี นั่นก็คือ Health at home ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการสร้าง Homecare Solution สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้าน เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Health at home ให้มากขึ้น โดยขอต้อนรับ คุณหมอตั้ม CEO & Co-Founder ของ Health at home ค่ะ รบกวนช่วยอธิบายถึง Health at home ให้ฟังสักเล็กน้อยค่ะ
หมอตั้ม: เรามีความตั้งใจที่อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดีอยู่ที่บ้านโดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ตอนที่เกิดไอเดียนี้ คือ ตอนทำงานเป็นหมอในโรงพยาบาล และเห็นว่าคนไข้หลายคนไม่ได้อยากมาโรงพยาบาลหากไม่จำเป็นจริง ๆ เลยคิดต่อไปว่าทำอย่างไรคนไข้จึงจะสามารถอยู่ที่บ้านได้ บริการของเราจึงเริ่มต้นจากการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากตัวผมเองเป็นหมออายุรแพทย์ และมีโอกาสได้ดูแลผู้สูงอายุหลายคน พบว่าหลายคนไม่อยากมานอนโรงพยาบาล อยากกลับไปพักฟื้นที่บ้าน เราจึงได้เริ่มบริการนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น หากต้องการอยู่บ้านสิ่งสำคัญคือต้องมีคนดูแล เราจึงให้บริการหาผู้ดูแลผู้สูงอายุให้และช่วยเพิ่มศักยภาพ ด้วยการใช้แอปพลิเคชันในการกรอกข้อมูลเพื่อปรึกษาหมอและพยาบาลได้ โดยทำบ้านให้กลายเป็นโรงพยาบาล
ผู้ดำเนินรายการ: จุดเริ่มต้นในการลงมือทำธุรกิจสตาร์ตอัพในยุคก่อนหน้านี้ที่ยังคงเป็นเรื่องใหม่นั้น มีขั้นตอนและกระบวนการอย่างไรบ้าง
หมอตั้ม: ตัวผมเองตั้งใจที่จะทำงานในฐานะหมอมาโดยตลอด แต่ในปี 2010 หลังจากได้ทำงานมาสักระยะหนึ่ง ผมพบปัญหาหลายอย่างที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยรูปแบบของโรงพยาบาลอย่างเดียว เช่น คนไข้ที่มาโรงพยาบาลไม่ได้ หรือเข้าถึงโรงพยาบาลได้ยาก เช่น คนไข้ที่อยู่บนดอยหรือพื้นที่ห่างไกล หรือคนไข้ที่เคลื่อนย้ายมาโรงพยาบาลลำบาก เมื่อพบเจอคนไข้ประเภทนี้ก็พบว่าโมเดลของโรงพยาบาลไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด จุดเริ่มต้นของสตาร์ตอัพ คือ ตัวผมเองก่อนหน้านี้สนใจในเรื่องเทคโนโลยี และคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าสนใจและน่าจะนำมาปรับใช้ได้ จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ผมเคยทำธุรกิจไอที เป็นเว็บไซต์ที่ชื่อว่า ไอแอมดีอาร์ ซึ่งเป็นเว็บรีวิวที่ทำงานของหมอเวลาเรียนจบแล้วไปทำงานที่ต่างจังหวัด หลังจากนั้นก็ทำแอปพลิเคชันอ่านหนังสือออนไลน์ของหมอ ที่ชื่อว่า ดอกเตอร์บุ๊ค จนในปี 2015 มีไอเดียที่อยากจะทำเรื่องโฮมแคร์ การดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ประจวบกับที่สตาร์ตอัพกำลังดังขึ้นมาก็เลยลอง pitching ในโครงการของดีแทค และได้รับเงินลงทุนมาก้อนหนึ่ง จึงได้ออกจากงานเพื่อมาทำธุรกิจครับ
ผู้ดำเนินรายการ: เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องมีการใช้บุคลากรเป็นหลัก มีการวางแผนระบบบุคลากรไว้อย่างไร
หมอตั้ม: ตอนแรกที่มาทำก็คิดว่าจะทำ Tech Startup ธุรกิจแพลตฟอร์ม ไม่ได้คิดว่าจะมาทำเกี่ยวกับ operation หรือด้านบริการเลยครับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า Health at home ในช่วงแรก ๆ จะเป็นเหมือนเว็บไซต์ matching งานธรรมดา โดยคิดว่าจะทำคล้าย ๆ กับแกรปหรืออูเบอร์ คือ เปิดแพลตฟอร์มและมีผู้ดูแลมาสมัคร มีคนไข้มาหาแล้วมา matching กันในแพลตฟอร์ม แต่พอมาทำจริงกลับพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแก่นของธุรกิจนี้ส่วนหนึ่ง คือ บริการ ทำให้การ matching เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีการคัดกรองเพื่อจะได้ผู้ดูแลที่มีทัศนคติและทักษะที่ดี แต่เมื่อมีการคัดกรองกลับพบว่าคนที่ผ่านมาตรฐานที่ตั้งไว้มีน้อยมาก จึงเริ่มมีการเทรนนิ่งเกิดขึ้น เพราะมีคนอยากทำอาชีพนี้ไม่น้อย รวมถึงเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคต เท่านั้นยังไม่พอเรายังต้องทำระบบรองรับในสถานการณ์ต่าง ๆ อาทิ การจัดหาผู้ดูแลเข้าไปทำหน้าที่แทนเมื่อผู้ดูแลประจำมีธุระหรือลางาน รวมถึงการให้คำแนะนำปรึกษาเมื่อต้องการปรึกษาแพทย์ เป็นต้น
ดำเนินรายการ: หาโจทย์และความต้องการของผู้ใช้บริการเพื่อที่จะนำมาปรับปรุงจากที่ไหน
หมอตั้ม: หลัก ๆ ก็จากคนไข้ที่ใช้บริการจริงครับ เมื่อมีการยกเลิกงานเกิดขึ้นเราก็จะเข้าไปรับ feedback ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็มักจะได้รับคำแนะนำกลับมาทั้งจากคนไข้ ครอบครัวคนไข้ รวมถึงผู้ดูแลครับ
ผู้ดำเนินรายการ: ในประเทศไทยตอนนี้มีระบบคล้าย Health at home เยอะไหมคะ แล้วจุดเด่นที่ทำให้ Health at home แตกต่างจากที่อื่นคืออะไร
หมอตั้ม: ศูนย์จัดหาผู้ดูแลในลักษณะเอเจนซี่มีอยู่ไม่น้อยเลยครับ แต่เราทำแบบครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรอง เพิ่มพูนทักษะ ช่วยบริหารจัดการเวรการทำงาน รวมถึงระบบที่ช่วยในการปรึกษาจากทีมแพทย์และพยาบาล เป็น one stop service ทำให้ตรงจุดนี้เป็นข้อแตกต่างของเราครับ
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าอยากใช้บริการ Health at home ระยะสั้นสามารถทำได้ไหมคะ
หมอตั้ม: ได้ครับ นี่ก็เป็นอีกข้อที่เราแตกต่างจากที่อื่น นั่นคือ ทางเรารองรับการจองระยะสั้นได้ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 3 วัน เพราะจะมีคนไข้ส่วนหนึ่งนิยมใช้บริการเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาล เช่น คนไข้ที่ต้องไปเตรียมผ่าตัด หรือหลังผ่าตัด สำหรับการจองผู้ดูแล สามารถจองล่วงหน้าก่อนวันทำงาน 48 ชั่วโมง เพียงเท่านี้ทางเราก็จะสามารถหาผู้ดูแลให้ได้ครับ
ผู้ดำเนินรายการ: ในธุรกิจ Health at home มีการพัฒนานวัตกรรม หรือสิ่งที่คอยรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอย่างไรบ้าง
หมอตั้ม: แน่นอนครับว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวมีลูกน้อยลง ทำให้คนในยุคนี้จะได้ชื่อว่า Sandwich Generation หรือคนที่ต้องดูแลทั้งคนรุ่นพ่อแม่ และลูก ทำให้อาชีพผู้ดูแลสามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนของการดูแลเหล่านี้ได้ หากถามว่าเมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นเราจะทำอะไรบ้าง เราเองก็พยายามเป็นมากกว่าแค่ผู้ดูแล โดยได้ขยายบริการไปยัง telemedicine วินิจฉัยและให้คำปรึกษาเบื้องต้นว่าต้องไปโรงพยาบาลไหม ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงที่เดินทางลำบากนั้นสะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมถึงบริการที่สามารถทำที่บ้านได้ เช่น พยาบาลไปเจาะเลือด หรือตรวจร่างกาย
ผู้ดำเนินรายการ: ในอนาคตยังมีแผนอื่น ๆ อีกไหมคะที่อยากทำให้สำเร็จ
หมอตั้ม: ตอนนี้อีกอันที่กำลังทำอยู่ ก็คือ Health at home care center คือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่พยายามยกบรรยากาศของบ้านมาไว้ข้างใน โดยส่วนนี้เป็นการตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ เช่น ผู้มีพื้นที่บ้านไม่เพียงพอ หรือผู้มีภาวะอัลไซเมอร์ เป็นต้น
ผู้ดำเนินรายการ: อยากทราบถึงปัญหาที่ได้พบเจอจากการทำธุรกิจไม่ทราบว่าพอจะแชร์ให้ฟังได้ไหมคะ
หมอตั้ม: ถ้าทำสตาร์ตอัพผมว่าสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ คือ ความไม่รู้ในช่วงแรก แม้ว่าเราจะศึกษามามากมายแต่เมื่อมาทำสิ่งที่เจอคือ การทำสินค้า โดยเฉพาะตัวแอปพลิเคชัน ซึ่งตัวผมเองก็คิดว่าได้ข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้ามาพอสมควร แต่เมื่อทำจริงก็พบว่าหลายครั้งฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ใส่ลงไปก็เป็นการอนุมานไปเอง รวมถึงต้นทุนในการทำสินค้าทางเทคโนโลยีนั้นมีต้นทุนที่สูง มีทีม มีการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งไว้เวลาค่อนข้างนาน และหากว่าเราไม่ได้มีการทดลองที่ดีแล้วใช้งานไม่ได้ไม่มีคนใช้ ก็ทำให้เรารู้สึกเสียใจและเสียเวลาด้วยครับ
ผู้ดำเนินรายการ: ในตอนนั้นได้จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรคะ
หมอตั้ม: อันดับแรกก็ต้องยอมรับให้ได้ครับ อย่างเช่นเคสของ Health at home คือ ผมบอกว่าเราน่าจะมีแอปพลิเคชันที่บอกรายละเอียด และข้อมูลทุกอย่างให้ครอบครัวเห็น เช่น ความดัน ชีพจร ค่าปัสสาวะ ซึ่งตรงนี้เป็นฟีเจอร์ที่เราตั้งใจทำมาก แต่ในความเป็นจริงครอบครัวก็ไม่ได้ต้องการดูขนาดนั้น แต่ข้อมูลเหล่านั้นเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องการทราบมากกว่า พอเราปล่อยออกไปก็เห็นว่าอัตราการใช้งานมีไม่เยอะ ไม่ใช่ความต้องการของผู้ใช้งานจริง ซึ่งก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเสียดายเวลา
ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่าการพัฒนานวัตกรรมใน Health at home นั้นเป็นการพัฒนาในรูปแบบที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย จึงอยากทราบว่ามีแนวทางในการมองหาไอเดียในการพัฒนาธุรกิจ หรือมีแรงบันดาลใจมาจากสตาร์ตอัพจากต่างประเทศบ้างไหมคะ
หมอตั้ม: อันดับแรกเมื่อมีไอเดียก็ต้องไปดูของคนที่เคยทำมาก่อนแล้ว ซึ่งก็ดูของต่างประเทศ และก็ดูของประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนเรา เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน ซึ่งเมื่อประเทศเหล่านี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วก็ย่อมมี solution ที่รองรับในส่วนนี้ก่อนเรา อันดับที่สองก็ดูจากอุตสาหกรรมข้างเคียงว่ามีอะไรที่เราสามารถหยิบมาใช้ได้ เพราะเราเองก็ทำกึ่ง ๆ marketplace เช่นกัน ก็ต้องไปดูวิธีการทำธุรกิจของอูเบอร์ หรือแกรปที่เป็นธุรกิจ marketplace เช่นเดียวกัน ซึ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนที่สามารถนำมาใช้ได้เหมือนกัน
ผู้ดำเนินรายการ: อยากทราบว่าหากอยากที่จะสมัครเข้าไปร่วมงานกับ Health at home ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างคะ
หมอตั้ม: ตอนนี้รับสมัครอยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปีครับ แต่จริง ๆ ก็สมัครได้หมดครับ แค่ต้องการช่วงอายุหลัก ๆ อยู่ในช่วงที่แจ้งไป สำหรับการศึกษาก็น่าจะประมาณ ม.3 ถึง ม.6 ขึ้นไป หากมีใจและทัศนคติที่อยากจะดูแลก็ได้หมดเลยครับ เพราะหนึ่งในพันธกิจของเรานอกจากการดูแลคนไข้ที่ดี ก็คือ การสร้างอาชีพที่ดี ผมรู้สึกว่าอาชีพนี้จะเป็นที่ต้องการในอนาคต และไม่ได้ถูกทดแทนโดยง่ายจาก AI เพราะการดูแลเป็นมิติในการใช้ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ หากไม่มีความรู้ ขอแค่ใจรักและมีทัศนคติที่อยากดูแลเราก็จะอบรมและเทรนนิ่งให้เป็นการสร้างอาชีพ หากมีคนที่สนใจก็มาสมัครได้ครับ
ผู้ดำเนินรายการ: อย่างที่ทราบกันว่าพนักงานของเรามีความสุขมาก ๆ เลยอยากทราบว่าอะไรที่ทำให้ผู้ดูแลของ Health at home มีความสุขและรักในการทำงานแบบนี้คะ
หมอตั้ม: อันดับแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่างานดูแลเป็นงานที่หนัก ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ และเราต้องให้ความเคารพในอาชีพนี้นะครับ เพราะในภาพรวมสังคมไทยยังไม่คุ้นเคยกับอาชีพนี้เท่าไร ในบางครั้งจึงอาจจะมีมุมมองที่ดูถูกเขาเหล่านี้บ้าง แต่ในความจริงแล้วผมมองว่านี่เป็นวิชาชีพหนึ่ง เพราะฉะนั้นบริษัทเองก็จะปฏิบัติกับเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง อย่างที่สองคือการดูแลเขาให้ดี ส่วนแรกเลยคือเรื่องค่าตอบแทน ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ตรงเวลาและ fair อย่างที่สามคือการ support ไม่ใช่ว่าส่งไปทำงานแล้วจบเคสค่อยมาเจอกันใหม่ แต่เราจะให้คำปรึกษาและช่วย support อยู่เสมอ
ผู้ดำเนินรายการ: ตอนนี้ Health at home มีลูกค้ากี่จังหวัดจากทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกจังหวัดหรือยังคะ
หมอตั้ม: จริง ๆ เราดูแลทั่วประเทศนะครับ แต่สัดส่วนหลัก ๆ ประมาณ 90% ก็ยังเป็นกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ปัญหาตอนนี้ ก็คือ เรายังขาดผู้ดูแลอยู่ เพราะตอนนี้มีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน เราก็เลยอยากได้ผู้ดูแลที่จะมาร่วมงานกับเรามากขึ้นครับ
ผู้ดำเนินรายการ: หากลูกค้าเราอยู่ที่ต่างจังหวัด จะบริหารจัดการ และช่วยเหลือผู้ดูแลอย่างไรคะ
หมอตั้ม: ในตอนนี้ศูนย์กลางของเราอยู่ที่กรุงเทพ การอบรมหรือสำนักงานก็จะเริ่มที่กรุงเทพก่อนแล้วค่อยขยายไปยังต่างจังหวัดครับ
ผู้ดำเนินรายการ: ในอนาคตจะเป็นไปได้ไหมคะที่เราจะหาผู้ดูแลในแต่ละพื้นที่หรือจังหวัดนั้น ๆ หรืออบรมในจังหวัดนั้นไปเลย
หมอตั้ม: คิดว่าเป็นไปได้ครับ ผมเองก็มองเรื่องการขยายบริการไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น แต่ปัจจุบันที่ต้องการเข้ารับบริการในกรุงเทพและปริมณฑลเองก็ยังหนาแน่นอยู่ครับ แต่ก็คิดว่าถ้าตรงนี้สามารถรองรับได้ดีขึ้นก็จะขยายไปยังต่างจังหวัด
ผู้ดำเนินรายการ: อยากทราบถึงเป้าหมายในอนาคตและแผนการขยายธุรกิจของ Health at home ค่ะ
หมอตั้ม: mission ที่เราอยากเห็นคือ คนไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ซึ่งที่อยากเห็นก็คือหากมีปัญหาสุขภาพอะไรก็จะมาหา Health at home เป็นที่แรก และเราก็จะช่วยจัดการปัญหาง่าย ๆ ให้เขาอยู่ที่บ้านได้ และหากไม่ได้หนักหนาสาหัสจริง ๆ ก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาล น่าจะช่วยทำให้โรงพยาบาลมีความหนาแน่นน้อยลง ทำให้หมอทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น คนไข้เองก็สามารถใช้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นภาพที่เราอยากเห็นครับ
ผู้ดำเนินรายการ: สุดท้ายอยากให้ช่วยฝากธุรกิจ Health at home ว่าถ้าอยากจะใช้บริการสามารถติดตามได้ที่ช่องทางไหนบ้าง และรวมถึงช่องทางการสมัครเข้ามาเป็นผู้ดูแลด้วยค่ะ
หมอตั้ม: ทั้งสองอย่างที่ว่ามาสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของเราได้เลยครับ
Health at home
Health at home care center
https://www.carecenter.healthathome.in.th/
Health at work
https://www.healthatwork.in.th/
หรือจะค้นหาคำว่า Health at home ใน google ก็ได้ครับ
ผู้ดำเนินรายการ: สุดท้ายนี้อยากให้ช่วยให้กำลังใจผู้ประกอบการหรือผู้ที่กำลังที่จะเริ่มทำธุรกิจสตาร์ตอัพในยุคนี้หน่อยค่ะ
หมอตั้ม: อย่างแรกเลยต้องทบทวนว่าจุดที่เรากำลังยืนอยู่สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ เพราะหัวใจหลักคือการได้แก้ปัญหาที่เราอยากทำ ซึ่งบางทีมันไม่จำเป็นต้องออกมาลงทุนแล้วทำสตาร์ตอัพเพียงอย่างเดียว หากประเมินแล้วว่าเราอยู่ในองค์กรที่ใหญ่ และมีความพร้อมก็สามารถทำได้ เพราะหลายครั้งการที่เราออกมาอาจจะทำให้เราไม่ได้อยู่ในจุดที่แก้ไขปัญหาระดับนั้นได้ แต่ถ้าออกจากงานมาแล้วก็ลุยให้เต็มที่ครับ ผมมองว่าเวลาสำคัญที่สุด รีบใช้เวลาให้คุ้มค่า
** ผู้สนใจรับชมในรูปแบบวิดีโอ สามารถรับชมผ่าน ICHI Website โซน VIDEO ได้ทันที **
บทความนี้เขียนจากการสัมภาษณ์ นายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มุ่งถ่ายทอดจุดเน้น เจตนารมณ์ ตลอดจนหลักคิดของกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจ และคลายความกังวลให้แก่องค์กรธุรกิจ โดยคาดหวังว่า หลังจากกฎหมายบังคับใช้จะสร้างสมดุลด้านการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในสังคมไทย หากทุกฝ่ายเกิดความตระหนักและเข้าใจตรงกัน นั่นคือ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
01.04.2022
1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในมาตราที่เลื่อนการบังคับใช้ออกมา 2 ปี จะเริ่มมีผล แม้จะเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน แต่ก็สามารถเร่งดำเนินการให้องค์กรปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ได้ไม่ยาก โดย นายกำพล ศรธนะรัตน์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Data Protection Officer (DPO) และที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และประธานชมรม DPO ได้ให้หลักการ แนวทาง ตลอดจนขั้นตอนการปฏิบัติ ไว้ในที่นี้
20.04.2022
ปัจจุบันเรื่องของกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีบทบาท และเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งทุกองค์กรจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ภายในองค์กรอย่างเหมาะสม โดยการนำไปใช้ในองค์กรให้เหมาะสมนั้น มีหลากหลายมิติที่หลายฝ่ายในองค์กรจำเป็นที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อนำหลักกฎหมาย PDPA ไปใช้อย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด
05.05.2022