Big Data

COVID-19

AI Technology

Marketing

Leadership

Innovation

IoT, M2M

Data Analytics

17.05.2022

【BIG DATA】กุญแจสำคัญสู่การใช้ BIG DATA ให้เกิดขึ้นจริง

กุญแจสำคัญสู่การใช้ BIG DATA ให้เกิดขึ้นจริง

การทำ BIG DATA ก่อให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร และนำไปสู่การสร้างรายได้ใหม่ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ การเปลี่ยนแปลง Mindset ของคนในองค์กรที่อาจจะยังมองไม่เห็นข้อดีของการนำข้อมูลมาใช้ ถือเป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจและทำให้เห็นถึงความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพทั้งภายนอกและภายในให้กับองค์กร

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ซึ่งปัจจุบันได้รับผิดชอบภารกิจทั้งในด้าน AI Governance รวมถึงการผลักดัน Digital ID Framework ของประเทศที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในหลาย ๆ มิติมาประกอบการวางแผนการดำเนินงานที่สำคัญ กล่าวว่า เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลถูกสร้างขึ้นได้ง่าย เพราะมีอุปกรณ์ที่จัดเก็บข้อมูลอย่างเช่น Smart Phone ทำให้สามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาต่อยอดได้มากมาย และเมื่อองค์ประกอบหลาย ๆ ส่วนพร้อมสำหรับการเก็บข้อมูลไปจนถึงการนำเอาข้อมูลไปใช้ จึงทำให้เกิดคำว่า BIG DATA ขึ้นมา

ในอดีตหลายองค์กรต่างใช้ข้อมูลสำหรับการจัดการแบบดั้งเดิม เช่น ใช้เพื่อดูยอดขาย ดูกำไรหรือขาดทุน แต่ปัจจุบันเมื่อมี Smart Phone และ Social media เข้ามาจึงทำให้มีข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าลูกค้าของเราเป็นใคร หรือลูกค้ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อแบรนด์ของเรา

“เราได้เห็นว่ามีบริษัทที่นำเอาข้อมูลมาทำให้เกิดเป็นธุรกิจ และสร้างรายได้จำนวนมาก จนขึ้นเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับ top10 ของโลกได้ ดังนั้น ต้องย้อนกลับมามองว่าที่องค์กรของเราเองว่ามีการเก็บข้อมูลหรือไม่ รวมถึงตั้งโจทย์ให้ได้ว่าจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำอะไร”

ดร.ศักดิ์ กล่าวถึงประโยชน์เบื้องต้นของการเอาข้อมูลมาใช้ในองค์กรมี 2 ด้าน คือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร และเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร โดยกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดบิ๊กดาต้าในองค์กรมี 3 เรื่องหลัก ๆ คือ

1. การตั้งโจทย์ว่าเราจะทำอะไร
2. ทีมข้อมูลต้องตรวจสอบความพร้อมว่าองค์กรเรามีข้อมูลที่จะมาตอบโจทย์เหล่านี้ไหม
3. ผู้บริหารต้องสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลให้เกิดประโยชน์

เตรียมความพร้อมก่อนทำ BIG DATA ด้วย 3 คำถาม

องค์กรที่ต้องการนำ BIG DATA มาใช้ต้องเตรียมความพร้อม ด้วยการตั้งคำถามในองค์กรทั้งหมด 3 คำถามหลัก ๆ คือ

1. Why: ทำไมองค์กรถึงต้องใช้ประโยชน์จาก BIG DATA โดยอาจจะตั้งโจทย์ว่าจะนำข้อมูลไปใช้เพื่ออะไร ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการแก้ปัญหาด้านรายได้ ดังนั้น การตั้งโจทย์คือเพิ่มจำนวนลูกค้า 30%

2. What: องค์กรต้องวิเคราะห์ว่าข้อมูลแบบไหนที่จะมาตอบโจทย์ของเรา เพราะข้อมูลที่จะมาตอบสนองเป้าหมายที่เราตั้งไว้มีหลากหลายรูปแบบ จึงต้องเลือกข้อมูลที่จะเข้ามาตอบสนองต่อเป้าหมายให้ถูกต้อง

3. How: เป็นการตั้งคำถามเรื่องของเครื่องมือที่จะนำมาใช้ ว่าจะใช้อย่างไร โดยองค์กรต้องทำความเข้าใจว่าเครื่องมือที่เหมาะจะนำมาใช้กับข้อมูลเป็นแบบไหน เพราะการวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละรูปแบบจะแตกต่างกัน เช่น หากต้องการวิเคราะห์ข้อมูลอดีตกับต้องการรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นซึ่งเป็นการพยากรณ์ในอนาคต ก็จะใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของ ‘คนในองค์กร’ ซึ่งต้องมีการจัดวางองค์ประกอบของทีมข้อมูลให้ดี ส่วนใหญ่ทุกคนจะเข้าใจว่าเรื่องข้อมูลเป็นงานของ IT ซึ่งไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะ IT มีหน้าที่คือดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเครื่องมือต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้วความสำคัญต้องอยู่ที่หน่วยงานที่ต้องการนำข้อมูลมาใช้ เช่น หากองค์กรต้องการนำ BIG DATA มาใช้เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้า หน่วยงานที่ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญคือ ฝ่ายขาย หรือ เจ้าหน้าที่การตลาด

ทั้งนี้ ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า การทำ BIG DATA ภายในองค์กรต้องมีกรอบการทำงานที่เป็นมาตรฐานสากลเรียกว่า DATA GOVERNANCE ซึ่งเป็นการกำกับดูแลข้อมูล โดยมีการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอย่างมีระบบ ดังนั้น หากต้องการเริ่มต้นทำ BIG DATA องค์กรต้องทำ DATA GOVERNANCE เป็นอันดับแรก ซึ่งจะช่วยให้การทำงานขององค์กรเป็นระบบ ทำให้เกิดผู้รับผิดชอบที่เหมาะสม รวมไปถึงทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพข้อมูลตลอดเวลา

“สิ่งที่เป็นหัวใจของ DATA GOVERNANCE คือ การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องของข้อมูลมานั่งคุยกัน เพื่อช่วยกันคิดว่าข้อมูลที่จะตอบโจทย์องค์กรควรเป็นอย่างไร หากไม่ทำ DATA GOVERNANCE ไม่มีทางที่ BIG DATA จะสำเร็จ เพราะ DATA GOVERNANCE จะเป็นการวางกรอบให้เรา และองค์กรจะต้องนำกรอบเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้เป็นของใครของมัน”

ปรับ Mindset ผู้บริหารสู่การทำ BIG DATA

นอกจากการให้ความสำคัญกับ DATA GOVERNANCE แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับการทำ BIG DATA เพราะผู้บริหารต้องเป็นคนใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และเป็นคนตั้งเป้าหมายเพื่อใช้ข้อมูลขับเคลื่อนองค์กร โดยต้องปรับ Mindset ของผู้บริหารเป็นอันดับแรก ซึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วยการไปศึกษาดูตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำ BIG DATA และต้องสร้างความเข้าใจว่า การใช้ข้อมูลต้องมีการเรียนรู้ ซึ่งสามารถศึกษาได้จากบริษัทที่ประสบความสำเร็จ

“คนที่เป็นเบอร์ 1 เบอร์ 2 ขององค์กรต้องเป็น Data owners ซึ่งไม่ได้หมายถึงต้องเข้าใจข้อมูลในทางเทคนิค แต่ต้องเข้าใจข้อมูลที่รับผิดชอบ ว่าจะเอาข้อมูลมาทำยังไงเพื่อให้ตอบโจทย์ภารกิจองค์กร นอกจากนี้ทีม DATA ขององค์กร ต้องวางรูปแบบและแนวปฏิบัติให้ดี ขณะที่ผู้ใช้ข้อมูลต้องมีความเข้าใจและเรียนรู้ที่จะใช้ข้อมูลด้วยเช่นกัน”

ปัญหาที่ทำให้ BIG DATA ไม่เกิดในองค์กร

ดร.ศักดิ์ มองว่าปัญหาที่ทำให้ BIG DATA ไม่เกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องของการตั้งโจทย์ทางธุรกิจที่ไม่ชัดเจนขององค์กร โดยปัจจุบันเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลมีการพัฒนาขึ้นมาก นอกจากจะมีราคาต่ำลงแล้วยังถูกออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องของเครื่องมือเหมือนในอดีต แต่เป็นเรื่องของการตั้งวัตถุประสงค์ขององค์กร

นอกจากนี้ การสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานในเรื่องของการทำ BIG DATA ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหา ซึ่งทุกองค์กรต้องสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของการทำ BIG DATA ว่า หากสามารถทำสำเร็จจะเกิดประโยชน์อย่างไรบ้างต่อองค์กร รวมถึงจะช่วยแบ่งเบางานของพนักงานได้อย่างไรบ้าง
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาคือ การคาดหวังว่าการทำ BIG DATA จะต้องประสบความสำเร็จในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งประเด็นนี้ ดร.ศักดิ์ มองว่า การจะประสบความสำเร็จลุล่วงได้นั้น อย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี
ดร.ศักดิ์ ได้ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จจากการทำ BIG DATA คือกลุ่มธนาคาร โดยที่ผ่านมาธนาคารต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนเมื่อมีเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ อย่าง FinTech ซึ่งธนาคารหลายแห่งได้ทำการเก็บข้อมูลเป็น BIG DATA และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์พฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบัน

“ธนาคารตีโจทย์แตกแล้ว ว่าทำยังไงถึงจะรู้พฤติกรรมลูกค้ามากที่สุด ดังนั้นเมื่อธนาคารมี BIG DATA ก็จะทำให้มองเห็นเทรนด์ต่าง ๆ และสร้างโปรดักต์ออกมาตอบโจทย์ได้ โดยสิ่งสำคัญที่ข้อมูลต้องมีคือ สามารถตอบได้ว่า ที่ไหน เวลาอะไร และกับใคร ซึ่งธนาคารสามารถเก็บข้อมูลทั้ง 3 ส่วนได้ทั้งหมดแล้ว พวกเขาจึงสามารถตอบโจทย์คนในยุคปัจจุบันได้”

ดร.ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “DATA จะวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นการทำ DATA ไม่มีวันจบ เพียงแต่เราต้องวางกลไกภายในองค์กรเพื่อจะทำให้เกิดการใช้ข้อมูล และการปรับปรุงคุณภาพข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่าคาดหวังว่าวันแรกทุกสิ่งจะสำเร็จ 100% แต่เราจะต้องวางรางฐานโดยเริ่มจากการตั้งโจทย์เป็นอันดับแรก”

Related Articles

RECOMMEND