COVID-19

MedTech

Startups

Innovation

Digital

18.05.2022

【ICHI TALK】 ดูแลสุขภาพจิตให้ดีเท่าสุขภาพกาย by OOCA

รายการ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ และร่วมแชร์ประสบการณ์ รวมถึงข้อคิดดี ๆ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรพลาด

ผู้ดำเนินรายการ: ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่รายการ ICHI TALK ในช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้คนไทยเกิดภาวะเครียดสะสมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้หลายหน่วยงานให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น แต่การไปพบเพื่อพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล เนื่องจากคนไทยยังไม่กล้าเปลี่ยนมุมมองในเรื่องการเข้ารับคำปรึกษา ว่าเป็นเรื่องปกติ และควรทำเมื่อเกิดภาวะเครียดสะสม แต่ในวันนี้สิ่งเหล่านี้จะง่ายขึ้น เนื่องจากเราจะสามารถเข้ารับคำปรึกษาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือเดินทางไปพบจิตแพทย์ด้วยตัวเอง ทั้งยังสามารถพูดคุยกับจิตแพทย์ได้อย่างเป็นส่วนตัว และปลอดภัย ผ่านทางแอปพลิเคชัน Ooca ลำดับต่อไปขอเชิญพบกับ คุณอิ๊ก กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ Founder of Ooca & Wall of sharing กันค่ะ ก่อนอื่นรบกวนให้ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า Ooca คืออะไรคะ?

คุณอิ๊ก: Ooca เป็นสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 และเปิดให้ใช้งานในปี 2018 ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เราเองเป็นคนที่เคยเข้าพบจิตแพทย์ และเข้ารับการรักษา แต่ตัวเราเองกลับรู้สึกว่าการรักษาเกิดขึ้นได้ลำบาก มีการเดินทางซึ่งทางตัวของจิตแพทย์เองก็มีคิวที่แน่น เลยเกิดความคิดว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ จึงเกิดแอปพลิเคชัน Ooca ขึ้นมาค่ะ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าไปเลือกดูและพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้ง่ายที่สุด โดยในแอปพลิเคชันจะมีจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย มากกว่า 100 คน โดยทุกคนได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว อีกทั้งยังสามารถคุยได้ทันทีหากตรวจสอบเวลาแล้วทางแพทย์หรือนักจิตวิทยานั้นออนไลน์อยู่ก็สามารถที่จะจองและคุยได้ทันที สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ ซึ่งบริการของเราเป็นบริการทางด้านวิดีโอคอลที่ให้บริการทั้งคนทั่วไปและกลุ่มองค์กร โดยกลุ่มหลักของเรา คือ องค์กร โดยทำงานร่วมกับฝ่ายบุคคลเพื่อให้สามารถดูแลจิตใจ และความเครียดของพนักงานได้ดีมากยิ่งขึ้น ลูกค้าของเราที่เป็นกลุ่มองค์กรนั้นมีมากกว่า 40 บริษัทแล้ว

ผู้ดำเนินรายการ: อะไรที่ทำให้เห็นถึงปัญหาในการเข้าพบจิตแพทย์ของคนไทยคะ?

คุณอิ๊ก: ส่วนตัวเคยทำงานเป็นทันตแพทย์อยู่ต่างจังหวัด ถือเป็นคนให้บริการ อีกทั้งยังทำงานอยู่ใกล้ชายแดน ทำให้ตัวเราเองก็มีความเครียดได้เช่นกัน เราเองก็ต้องการที่จะดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง แต่กลับกลายเป็นว่าเราต้องการเอาคุณภาพชีวิตของเราไปแลก หากต้องการหาจิตแพทย์ก็ต้องลางานหลายวัน รวมถึงหากต้องการหาอาจารย์หมอก็ต้องทำนัดหลายสัปดาห์ แม้จะถึงวันนัดแล้วก็อาจจะต้องไปนั่งรออีกหลายชั่วโมงกว่าจะได้เจอ ทำให้รู้สึกว่ากระบวนการแบบนี้สามารถทำให้ง่ายขึ้นได้ ไม่ต้องเสียเวลาเยอะ เนื่องจากการรักษาสุขภาพจิตสามารถทำการรักษาได้ด้วยการพูดคุยในกรณีที่เหมาะสมต่างจากการรักษาทางกาย รวมถึงระยะเวลาในระหว่างการรอรักษาครั้งต่อไปอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถจัดการได้ แล้วเราจะทำอย่างไร จึงได้คิดจะสร้างนวัตกรรมที่รองรับ และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

ผู้ดำเนินรายการ: การเปลี่ยนสายงานจากทันตแพทย์สู่การทำธุรกิจด้านจิตวิทยานั้นเกิดขึ้นอย่างไรคะ

คุณอิ๊ก: สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นหมอหรือหมอฟัน น้อยมากที่จะเป็นนักธุรกิจ ต้องบอกว่าตอนแรกไม่ได้มองว่าเป็นธุรกิจด้วยซ้ำ แค่คิดว่ามันจะมีสิ่งนี้ แล้วจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ไม่ใช่ว่าอยากทำก็ทำแต่ต้องนึกถึงเรื่องการวิจัยพัฒนา รวมไปถึงด้านการตลาด เพราะถึงแม้ว่าเราจะมี solution ที่ดี แต่ไม่มีคนรู้จักก็เสียเปล่า เท่านั้นยังไม่พอยังมีการผสมผสานความรู้ทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ในการตั้งราคา และการเข้าไปทำงานร่วมกับธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจนี้ไม่ได้มีเพียงคนไข้เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ยังช่วยส่งเสริมเส้นทางอาชีพให้กับจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา โดยการเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ได้ทำงานที่ตนรัก ต่อยอดศักยภาพของตนเองด้วยค่ะ

ผู้ดำเนินรายการ: ช่วยเล่าให้ฟังถึงการเรียนรู้ในเรื่องธุรกิจที่ต่างจากวิชาแพทย์ที่เราได้ศึกษาสักเล็กน้อยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด การหา partner การพิชชิ่ง

คุณอิ๊ก: ก้าวแรกก็ Google เลยค่ะ เพราะเมื่อมีคำถามเราก็ต้องหาคำตอบซึ่งเครื่องมือในการค้นหาเป็นสิ่งสำคัญค่ะ สิ่งที่อิ๊กมองว่าบทเรียนที่สำคัญมาก ๆ ในการทำความเข้าใจสินค้าเชิงเทคโนโลยี ก็คือ การเรียนคอร์สทางออนไลน์ค่ะ ซึ่งตัวอิ๊กเองไปเรียนคอร์สของทาง UDACITY ชื่อว่า Product design ซึ่งก็สอนเกี่ยวกับความรู้ทางด้านผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้น สอนดี และฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนตัวเลยรู้สึกว่าคอร์สนี้ดีมาก ดีกว่าคอร์สที่ต้องเสียเงินเข้าไปเรียนเสียอีก อีกทั้งการเข้าไปคุยกับบริษัททำแอปพลิเคชันก็จะได้ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นจากคีย์เวิร์ดที่ทางบริษัทฝั่ง IT พูดออกมา เราก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ไป สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ ต้องเป็นคนที่ตั้งคำถามต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และหาคำตอบให้ได้ โดยอาจจะหาจาก internet คอร์สเรียนออนไลน์ หรือคอร์สแนะนำที่คนชอบไปเรียนกันเพื่อสร้าง connection ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่คำตอบก็ได้แต่ก็อาจจะเป็นเพื่อนเราที่ดีได้ในอนาคต หรืออาจจะไปลองแข่งหรือลองประกวด เพื่อทำให้เราหรือบริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น ถ้าไอเดียเราดีพอคนก็เอาไปขยายต่อมากขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อทำให้รูปแบบของการเข้าพบจิตแพทย์เปลี่ยนแปลงไป เราใช้เทคโนโลยีอะไรที่ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าเหมือนได้เข้ารับการรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลคะ

คุณอิ๊ก: จริง ๆ เทคโนโลยีหลักที่ใช้ ก็คือ การวิดีโอคอลค่ะ เพียงแต่ว่าเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ววิดีโอคอลยังไม่ได้แพร่หลายในเชิงธุรกิจหรือวงการสาธารณสุขอย่างเช่นปัจจุบัน ทำให้เราต้องเริ่มปรับเปลี่ยนจากทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายคนไข้ และแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งฝั่งจิตแพทย์ และนักจิตวิทยานั้นสำคัญมาก ๆ ว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้รู้สึกมั่นใจในการที่จะลองวิธีการใหม่ ๆ จะเข้าถึงคนไข้ เพราะเป็นสิ่งที่เขาไม่คุ้นชิน ทำอย่างไรจะทำให้เขาเปิดใจให้ยอมรับเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน Telemed ยังเป็นกลุ่มที่เล็กมากในตอนนั้น บริษัทที่เป็น Telemed แล้วได้เข้าตลาดหุ้นนั้นมีแค่บริษัทเดียวจากทั่วโลกในตอนนั้น ชื่อว่า Teladog แต่หุ้นก็ไม่ค่อยดี ในตอนนั้นตัวเราเองก็เอาข้อมูลทุกอย่างมาแล้วชักชวนให้อาจารย์นักจิตหรืออาจารย์จิตแพทย์มาเพิ่มความเชื่อมั่นแล้วให้ทดลองใช้ดู แน่นอนว่าการจะเปลี่ยนมาลองอะไรใหม่ ๆ ก็ต้องใช้เวลา เลยต้องแบ่งคนออกเป็นกลุ่มย่อย เช่น กลุ่มคนที่ชอบนวัตกรรม ก็จะเปิดรับสิ่งใหม่ได้ง่าย แล้วก็จะมีกลุ่มอื่น ๆ ตามมา ตัวอย่างเช่น บริษัท Grab เมื่อก่อนมีคนใช้เฉพาะกลุ่มแต่ในปัจจุบันคนจำนวนมากก็ใช้กันเป็นปกติ ต้องบอกว่าฝ่ายการตลาดทำงานเก่งในการค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งทุกอย่างก็ต้องใช้เวลา ความเป็นไปได้ความเหมาะสมของทุกองค์ประกอบ

ผู้ดำเนินรายการ: ในปัจจุบันเราใช้การวิดีโอคอลแล้วในอนาคตมีแผนว่าจะนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้กับแอปพลิเคชัน Ooca บ้างไหม

คุณอิ๊ก: ความเป็นไปได้มีค่อนข้างเยอะมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแบรนด์เป็น metaverse การสร้างโลกเสมือนให้ไปจับจองที่ดิน ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงการตลาด เพียงแต่ว่าคนอยากจะเป็น first to market อยากจะเป็นคนแรกที่ครอบครองสิ่งเหล่านี้ และเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลกเสมือนมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่เข้าถึงคนทั่วไปมากนัก แต่อย่างน้อยกลุ่ม early adopter กลุ่มนวัตกรรมเข้ามา และเริ่มมีเงินทุนเข้ามาพัฒนาให้ดีขึ้น อิ๊กก็เชื่อว่าต่อไปในอนาคตพวกความจริงเสมือนน่าจะเข้าถึงคนได้มากขึ้น น่าจะเป็นตัวเลือกที่คนเลือกที่จะใช้ดูแลตัวเอง แต่ก็คงไม่ได้เหมาะกับทุกกรณี การเอาเรื่องสุขภาพมาใช้กับ AR VR นั้นก็มีอยู่ประมาณหนึ่ง เช่น งานวิจัยของผู้ที่เป็น PTSD ที่นำเอา VR เข้ามาใช้ร่วมกับการรักษานั้นสามารถช่วยได้มาก เพราะเหมือนกับว่าสามารถย้อนเวลากลับไปเพื่อแก้ไขอดีตหรือได้ทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในประสบการณ์ที่ต้องอยู่ท่ามกลางในสิ่งที่คนคนนั้นกำลังต่อสู้อยู่ ส่วนตัวจึงมองว่าการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้นั้นเป็นไปได้ และน่านำมาใช้ใน Ooca เช่นกัน

ผู้ดำเนินรายการ: ต่อไปเป็นพาร์ทของการตลาด ตอนแรกมีการวางกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นกลุ่มไหน แล้วเมื่อเปิดตัว Ooca แล้วกลุ่มลูกค้าที่มาใช้งานเป็นกลุ่มไหน ตรงกับที่คิดไว้ตอนแรกไหมคะ

คุณอิ๊ก: ช่วงแรกสุดได้มีการสำรวจด้วยลองยิงโฆษณาให้คนเข้ามากรอกข้อมูล คำถามในเรื่องว่า ทำไมถึงอยากพบจิตแพทย์ จะพบว่าคนที่มีความต้องการจะเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 20 ปลาย ๆ ไปจนถึงช่วงอายุ 40 ปี ซึ่งผลลัพธ์เป็นผู้หญิงมากกว่า 70% และพอเปิดให้ใช้งานจิรงก็ยังคงเป็นคนกลุ่มเดิมอยู่ค่ะ คือ เป็นผู้หญิงและเป็นกลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไป แต่ว่าจะมีกลุ่มเด็กเพิ่มเข้ามา แต่กลุ่มที่ใหญ่จริง ๆ คือ กลุ่มพนักงานบริษัท เพราะ 70% ของรายได้ของ Ooca เกิดจากการที่เราเข้าไปดีลกับกลุ่มองค์กร

ผู้ดำเนินรายการ: ต่อไปอยากให้ช่วยบอกท่านผู้ชมถึงการดูแลสุขภาพจิตของตนเอง รวมไปถึงแนวคิดของผู้ชมบางท่านที่รู้สึกว่าการเข้าพบจิตแพทย์เป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถยอมรับได้

คุณอิ๊ก: ในเรื่องการดูแลจิตใจตัวเอง ถ้าเราไม่ได้ถึงขั้นวิกฤติ เช่น ดูแลหรือจัดการตัวเองไม่ได้ เราก็คงไม่ได้ไปหาจิตแพทย์หรอก แต่จะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราต้องไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ไม่ใช่ว่าเราแพ้แล้วเราจึงต้องหาจิตแพทย์ แต่นี่เป็นกระบวนการดูแลตัวเองปกติ เช่น หากเราปวดท้องเราก็พยายามหายากินเองก่อน แต่ถ้าหากมันไม่ดีขึ้นก็คงต้องไปพบแพทย์ สุขภาพใจเองก็ไม่ต่างกัน เวลามีความเครียดคนส่วนมากก็จะคุยกับพ่อแม่ เพื่อน แฟน หรือคุยกับตัวเอง บางคนก็แก้ปัญหาด้วยการช่างมันไปเลย เช่น ดูทีวี ดูซีรี่ส์ ไปเที่ยวต่างประเทศ คุยกับหมอดูเพื่อคลายเครียด ถ้าหากว่าทำแบบนี้แล้วโอเคก็ทำไปไม่ใช่เรื่องผิด เรามีวิธีการจัดการความเครียดไม่เหมือนกัน แต่พอเราเริ่มรู้ตัวว่าเริ่มไม่ปกติ เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือกินเยอะมากกว่าปกติ และมีผลกระทบกับคนรอบข้าง เช่น หงุดหงิดฉุนเฉียว รู้สึกเซื่องซึม ไม่เข้าสังคม ไม่สามารถทำงานได้ปกติ ซึ่งหากไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีก็ให้ลองปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก่อนเพื่อดูแนวทางการรักษาว่าควรไปในทางใด ทานยาหรือต้องใช้การให้คำปรึกษา เพราะบางทีอาจจะเกิดจากสารเคมีในสมองที่อาจจะต้องมาปรับกัน เลยอยากจะฝากไว้ว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะมีปัญหาได้ไม่ใช่เรื่องแปลก

ผู้ดำเนินรายการ: คนที่สำคัญไม่แพ้ผู้ป่วย คือคนที่อยู่เคียงข้างผู้ป่วยสุขภาพจิต มีคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวไหมคะ

คุณอิ๊ก: อย่างแรก คือ พยายามอยู่ใกล้ ๆ มี emphathy แต่ไม่ต้อง emphatize คือพยายามเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจ แต่ไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในห้วงเดียวกับผู้ป่วยจนตัวเองป่วยหรือคิดทำร้ายตัวเองด้วย รับฟัง อยู่ตรงนั้นเป็นกำลังใจให้กับเขา คนที่เป็นซึมเศร้าบางคนจะมองว่าตัวเองเป็นก้อนแห่งความเศร้า และไม่อยากให้คนรอบข้างมารู้สึกไม่ดี หรือเศร้าไปด้วยจึงพยายามที่จะผลักคนรอบตัวออกไปด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะเป็นการกระทำที่เลวร้าย แต่การตัดสินใจทำอะไรบางอย่างของคนที่เป็นซึมเศร้านั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของสารเคมีในสมอง ซึ่งสามารถรักษาได้ คนที่อยู่ใกล้ ๆ อาจจะต้องดูด้วยความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ และอาจจะบอกว่าเค้าว่าอยู่ตรงนี้เป็นเพื่อนแค่นี้พอ ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่เป็น supporter ให้กับคนที่เป็นโรคซึมเศร้านะคะ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้พยายามทำความเข้าใจว่านี่อาจจะไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ ของเขา แต่มาจากผลกระทบของโรค

ผู้ดำเนินรายการ: พอจะมีวิธีการพูดคุยหรือแนะนำให้ผู้ป่วยหรืออีกคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่สบายใจยอมเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ไหมคะ

คุณอิ๊ก: จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องค่อนข้างยากนะคะ ซึ่งเรื่องนี้จะมีลักษณะเดียวกันกับคนที่สูบบุหรี่ เขารู้ว่าสูบบุหรี่ไม่ดีแต่ก็ยังสูบอยู่ดี เช่นเดียวกันเราเองเห็นว่าคนคนนี้มีปัญหามากเลยควรไปพบจิตแพทย์ แต่เจ้าตัวไม่ยอมรับใจเขาต่อต้าน แต่ moment ที่เจ้าตัวจะตัดสินใจไปพบ ก็คือ ตอนที่ตัวเขาเองได้รับผลกระทบกับชีวิตเขา เช่น ปัญหาทางอาการเศร้าแล้วไปเหวี่ยงกับแฟน แล้วแฟนเริ่มทนไม่ไหวแล้ว ซึ่งถ้าหากคนคนนั้นให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครั้งนี้แล้วไม่อยากให้ความสัมพันธ์ตอนนี้หายไป ช่วงตรงนั้นแหละที่เป็นจังหวะที่เหมาะในการที่จะเข้าไปโน้มน้าวได้ และเราสามารถให้ความรู้กับคนที่เราเป็นห่วงได้ แต่อย่าไปคาดหวัง เราเองต้องปล่อยวางเหมือนกัน เราไม่สามารถที่จะไปบีบบังคับเขาได้ ถ้าเขาพร้อมเวลานั้นมันจะมาถึงเอง

ผู้ดำเนินรายการ: สุดท้ายอยากให้ช่วยให้กำลังใจกับคนที่กำลังอยากจะเริ่มทำธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เป็นยุคของโควิด-19 ค่ะ

คุณอิ๊ก: กำลังใจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ หลายอย่างสำเร็จได้จากการที่มีกำลังใจที่ดี แต่เราก็ต้องดูสถานการณ์ความเป็นจริงด้วย ดูความเป็นไปได้ต่าง ๆ หากสามารถไปต่อได้ก็ลุยเลย แต่ถ้าไม่สามารถไปต่อได้จริง ๆ ก็สามารถไปทำอย่างอื่นได้ ไม่ได้แย่เลย หากเราได้ลองแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จเราสามารถที่จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ แล้วเอาตรงนั้นเป็นบทเรียน เรานั้นเริ่มใหม่ได้เสมอ

Ooca website: https://www.ooca.co/

** ผู้สนใจรับชมรายการ ICHI TALK ในรูปแบบวิดีโอ สามารถรับชมผ่าน ICHI Website โซน VIDEO ได้ทันที **

RECOMMEND