Big Data

COVID-19

AI Technology

MedTech

Innovation

Digital

17.08.2022

【MedTech】ก้าวสู่ MedTech Startup ยกระดับการแพทย์ไทยด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก

ก้าวสู่ MedTech Startup ยกระดับการแพทย์ไทยด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก

MedTech ย่อมาจาก Medical Technology หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งในเทคโนโลยีเชิงลึกหรือที่เรียกว่า Deep Technology (Deep Tech) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่ม Tech Startup สามารถก้าวเข้าสู่ความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว และทำให้ประเทศสามารถลดการพึ่งพาทางด้านการแพทย์จากต่างประเทศได้มากขึ้น

คุณอุกฤช กิจศิริเจริญชัย ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หรือ National Innovation Agency (NIA) คุณอุกฤช ให้นิยามไว้ว่า

“MedTech เป็นการประยุกต์เอาเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพหรือบริการทางการแพทย์ ทั้งในแง่ของการวินิจฉัยโรค การรักษา ติดตามอาการ รวมถึงการประเมินสุขภาวะของผู้ป่วย ซึ่งมีความแตกต่างจาก Medical Device หรือเครื่องมือแพทย์ ตรงที่ MedTech มีความเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีเชิงลึกเข้ามาประยุกต์ใช้”

MedTech เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ด้านการแพทย์

ซึ่ง MedTech ถือว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเชิงลึกหรือ Deep Tech ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนาน มีจุดแข็งในเทคโนโลยีนั้น ๆ ทำให้ลอกเลียนแบบได้ยาก มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องมีประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

คุณอุกฤช ให้ตัวอย่างสำหรับเทคโนโลยีเชิงลึกที่นำมาใช้ในวงการแพทย์ เช่น การนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) เข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัยจากภาพถ่ายเอกซเรย์, การนำเทคโนโลยีภาพพิมพ์ 3 มิติหรือ 3D Printing มาช่วยในการพิมพ์กระดูกเทียม, การตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram), การถ่ายภาพจอประสาทตาเพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาช่วยในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ไม่ให้ข้อมูลของคนไข้เกิดการรั่วไหลได้ อย่างการบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในรูปแบบดิจิทัลด้วยระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์หรือ Electronic Medical Record (EMR) เป็นต้น

บทบาทของ สนช. ในการช่วยยกระดับมาตรฐาน MedTech ไทย

คุณอุกฤช กล่าวว่า “ตามหลักทฤษฎีของการทำนวัตกรรม จะมีนวัตกรรมที่สามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ได้เพียงแค่ 1% เท่านั้น ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ เราพยายามที่จะสร้างระบบนิเวศเพื่อฟูมฟักลูกไก่ให้สามารถเติบโตไปเป็นแม่ไก่ได้ในอนาคต ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะเติบโตได้จริง ๆ จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่เราต้องการทำให้ลูกไก่มีจำนวนที่มากพอ เพราะยิ่งมีลูกไก่มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีแม่ไก่ที่เติบโตอย่างสมบูรณ์ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น”

สำหรับทาง สนช. มีบทบาทหลักในการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่

เรื่องแรก : Groom คือ การส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ โดยการบ่มเพาะผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มต้นให้เข้าใจภาพรวมของการทำธุรกิจ Startup และใช้นวัตกรรมในการแข่งขัน

เรื่องที่สอง : Grant คือ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนานวัตกรรม โดยเป็นทุนให้เปล่าซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรก คือ ทุนนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เป็นทุนสนับสนุนโมเดลธุรกิจนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และนวัตกรรมเพื่อสังคม แบบที่สอง คือ ทุนนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) โดยแต่ละปีจะมีการกำหนดธีมในการขอรับทุนที่แตกต่างกันไป สำหรับทุนสนับสนุนของทาง NIA ต้องการที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการให้กล้าทำอะไรใหม่ ๆ และผลักดันให้นวัตกรรมเกิดได้ไวและมากขึ้น

เรื่องที่สาม : Growth คือ การยกระดับความสามารถธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบไทยให้ก้าวสู่เวทีสากล เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งทาง สนช. ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการโดยการพาออกสู่ตลาด อย่างในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้จะมีการพาผู้ประกอบการไทยจำนวน 8 รายไปร่วมงาน Medical Fair Asia Singapore 2022 เป็นต้น

ทั้งนี้ สนช. ยังเป็นผู้ริเริ่มในการพัฒนาย่านนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการศึกษา วิจัยและพัฒนา รวมถึงการทดลองด้านการแพทย์ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยมีการร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ (Medical Hub) ด้านการแพทย์ที่ครบวงจรในประเทศไทย เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีที่กรุงเทพ และย่านนวัตกรรมสวนดอกที่เชียงใหม่ เป็นต้น

ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่การเป็น MedTech Startup

นักวิจัยและผู้พัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีส่วนใหญ่ มักให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ในการใช้งานเชิงฟังก์ชัน แต่สิ่งที่อยากให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงด้วย คือ ท้ายที่สุดแล้วผลิตภัณฑ์นั้นตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าแบบใด ทิศทางตลาดเป็นอย่างไร รวมทั้งการคำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งธุรกิจ MedTech ก็มีส่วนของค่าการตลาดค่อนข้างมาก

และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ทั้งในส่วนของมาตรฐานที่เข้ามากำกับดูแลตั้งแต่การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ หรือมาตรฐานรับรองคุณภาพ ซึ่งผู้ประกอบการต้องดูว่าผลิตภัณฑ์ของตนนั้นมีมาตรฐานใดที่เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกลุ่ม MedTech ต้องอาศัยความพยายามที่มากกว่าการทำนวัตกรรมทั่วไปตรงที่ MedTech มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้งานด้วย

คุณอุกฤช เน้นย้ำสำหรับผู้ประกอบการไว้ว่า “ปัจจุบัน MedTech Startup ในไทย อาจมีจำนวนไม่มาก เนื่องจาก ขีดจำกัดด้านการเงินและระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ที่ยังไม่มากพอ สิ่งที่ทางเราพยายามแนะนำกับผู้ประกอบการตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ คือ การดูทิศทางตลาดและกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมาตรฐานที่ผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีความเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวได้ว่า สิ่งที่ธุรกิจกำลังจะทำ ควรเดินไปยังทิศทางใด”

อุปสรรคอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์หรือสินค้า MedTech ในประเทศไทย คือ คนไทยมักไม่เชื่อในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเอง ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน ผู้ประกอบการต้องให้ความใส่ใจกับการรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ด้วย เช่น ในการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือไฟฟ้าทางการแพทย์ต้องมีการรับรองมาตรฐาน IEC 60601-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานของเครื่องมือทางการแพทย์ในระดับสากล รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กลุ่ม MedTech ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะทาง ทาง สนช. เองมีการสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย เช่น การพาผู้ประกอบการออกสู่ตลาด เพื่อเสริมทัพให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าต่อได้และนำผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ

ตัวอย่างผู้ประกอบไทยที่เข้าสู่ตลาด MedTech แล้ว เช่น Perceptra เป็นบริษัทผู้ผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) เข้ามาใช้งานร่วมด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์ Inspectra CXR เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับปอดผ่านภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอก ช่วยเสริมการทำงานในการตรวจจับรอยโรคได้อย่างแม่นยำ เพื่อให้แพทย์สามารถทำงานได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ Meticuly บริษัทด้านเทคโนโลยีภาพพิมพ์ 3 มิติหรือ 3D Printing ที่สามารถผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายมนุษย์เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล เช่น การผลิตกระดูกสะโพกจากไทเทเนียม ซึ่งทั้ง Perceptra และ Meticuly เอง ต่างเป็นผู้ประกอบการไทยที่มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะสามารถขอระดมทุนในระดับ Series A ได้ สุดท้ายแล้วถ้าผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพและมีกลุ่มผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โอกาสในการขยายไปต่างประเทศหรือการขอระดมทุนจากนักลงทุนก็จะมีมากขึ้น

ประเทศไทยกับการขับเคลื่อน MedTech ในอนาคต

คุณอุกฤช กล่าวว่า “ประเทศไทยเรื่องทางการแพทย์เราแข็งแรงมาก ทั้งโรงพยาบาล แพทย์ หรือสถาบันแพทย์ ต่างมีงานวิจัยที่ดีมาก เดิมประเทศไทยเป็นผู้ใช้นวัตกรรมมากกว่าที่จะเป็นผู้ผลิตเอง เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น คนเริ่มให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการแพทย์ รวมถึงหน่วยงาน ภาครัฐต่าง ๆ ก็เริ่มตระหนักว่าประเทศไทยต้องลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งให้ทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ตื่นตัวในการเข้าสู่ตลาด MedTech มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยมากกว่า 30-40 ราย ที่เข้ามาอยู่ในตลาดนี้แล้ว”

ปัจจุบัน รัฐบาลได้มีการกำหนดนโยบายขับเคลื่อน BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว คือ โมเดลเศรษฐกิจที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยยกระดับ 4 อุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งเพื่อให้ประเทศก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ทาง สนช. ก็เป็นส่วนหนึ่งในคณะอนุกรรมการที่ช่วยขับเคลื่อนในด้านนี้ด้วย

“การทำให้ MedTech ในประเทศเติบโตได้นั้น สิ่งที่ต้องยอมรับ คือ ตลาดภาครัฐเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ทางเรามีการผลักดันให้ภาครัฐเอง พยายามที่จะอุดหนุนหรือใช้บริการเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นภายในประเทศให้ได้มากที่สุด” คุณอุกฤช กล่าวทิ้งท้าย

Show Case

RELATED ARTICLES

RECOMMEND