Construction project management software

Digital

15.09.2023

【Smart City】วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley): เมืองอัจฉริยะนำร่องของไทย

เมื่อนึกถึงเมืองอัจฉริยะที่มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน เป็นภาพของเมืองอนาคตที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ มีระบบดาต้าของเมืองที่ทันสมัย เมืองวังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) น่าจะเป็นตัวอย่างของเมืองในภาพนั้นได้ชัดเจนที่สุดในประเทศไทย ซึ่งวังจันทร์วัลเลย์เอง ก็ได้รับการรับรองว่าเป็นหนึ่งใน Smart City จาก DEPA ตั้งแต่ในปีแรก (พ.ศ. 2564) ที่ประเทศไทยมีการประกาศเมืองอัจฉริยะ

เพื่อที่จะเห็นภาพของเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์กันมากขึ้น ในบทความนี้ เราได้มาพูดคุยกับ ดร.จิรายุส ไวยนันท์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและบริหารการก่อสร้าง โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (วังจันทร์วัลเลย์) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ ดร.จิรายุส ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปของเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ พร้อมทั้งชวนไปทำความรู้จักเทคโนโลยีล้ำสมัย องค์ประกอบที่ทำให้วังจันทร์วัลเลย์เป็นเมืองอัจฉริยะนำร่อง และเป็นแพลตฟอร์มที่น่าจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เหมือนกับ Silicon Valley ศูนย์กลางธุรกิจไอทีและนวัตกรรมของโลก
วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) คืออะไร

โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ โครงการวังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) คือ โครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC ของภาครัฐ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อเป็นกลไกในพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ที่ยั่งยืน

ภาครัฐได้เล็งเห็นว่า การสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ยั่งยืนได้นั้น เมืองไทยจำเป็นต้องคิดค้นและมีเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยต้องมีการเปลี่ยนผ่านจากนโยบาย Thailand 3.0 ที่เน้นการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออก มาเป็น Thailand 4.0 ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยเมืองไทยจะต้องเป็นทั้งผู้ผลิตและเป็นเจ้าของนวัตกรรม

ในปี พ.ศ. 2560 จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มากถึง 40 หน่วยงาน รวมถึง ปตท. โดยหลังจากนั้นภาครัฐได้มอบหมายให้ สวทช. และ ปตท. ร่วมกันพัฒนา EECi และกำหนดให้พื้นที่โครงการวังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่ก่อตั้ง EECi Headquarters ซึ่งในตอนนั้นวังจันทร์วัลเลย์มีความพร้อมอยู่ก่อนแล้ว เพราะยังมีพื้นที่ว่างอีกประมาณ 2 พันไร่ และเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการศึกษา การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ “โรงเรียนกำเนิดวิทย์” (KVIS) และ “สถาบันวิทยสิริเมธี” (VISTEC) โดย ปตท. ทำหน้าที่หลักในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ของเมือง และ สวทช. ทำหน้าที่หลักในเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรม

จุดเริ่มต้นของ Wangchan Valley Smart City

ย้อนกลับไปในตอนเริ่มโครงการวังจันทร์วัลเลย์ช่วงปี พ.ศ. 2560 ในตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าเมืองอัจฉริยะต้องมีอะไรบ้าง ทีมงานจึงได้เริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลตัวอย่างและหลักการในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจที่จะนำมาใช้กับวังจันทร์วัลเลย์ แต่เพื่อให้เป็นการออกแบบเมืองอัจฉริยะที่คุ้มค่า ตรงใจผู้อยู่และผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด เราจึงได้จัด Smart City Design Workshop กับ Focus Group ซึ่งคือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นทั้งผู้อยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน ผู้ที่จะมาอยู่ในอนาคต และพันธมิตรที่จะมาร่วมสร้างเมืองนี้กับเรา เพื่อร่วมกันกำหนดองค์ประกอบหลักของเมือง และคัดเลือกเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะนำมาใช้กับเมือง

สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำ Workshop เพื่อระดมความคิดจากหลากภาคส่วนหลายๆ ครั้ง ในตอนนั้น คือ ภาพ Innovation Ecosystem ของเมือง ที่ประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ ที่ทีมงานเชื่อว่าจะทำให้วังจันทร์วัลเลย์เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนี้

1. บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (Large Firms & MNCs) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการคิดค้น พัฒนา รวมถึงผลิตนวัตกรรมออกมาสู่ตลาด

2. สถาบันวิจัย และหน่วยงานกำกับดูแล (Research Institutes & Regulators) มีบทบาทสำคัญในการคิดค้นพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลจะช่วยในเรื่องการให้อนุญาตผ่อนปรนข้อกฎหมายบางข้อเพื่อให้เกิดการทดสอบทดลองสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือ Prototype รวมถึงช่วยผลักดันเชิงนโยบายภาครัฐ ฯลฯ

3. โรงเรียนและสถาบันการศึกษา (School & University) องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยพัฒนางานวิจัยขั้นสูง สั่งสมองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ได้ รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาภายนอก

4. Smart Township คือพื้นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิต เพื่อไม่ให้วังจันทร์วัลเลย์เป็นแค่เมืองสำหรับการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ด้วยเช่นกัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น Community Mall สถานพยาบาล โรงเรียน โรงแรม และ อพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น

5. ธุรกิจขนาดเล็ก SMEs และ Startup ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยคิดค้นไอเดียสำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ หรือโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม

หลังจากนั้น ปตท. ซึ่งได้รับมอบหมายให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ของเมือง จึงได้เริ่มออกแบบทางวิศวกรรม โดยใช้คอนเซ็ปต์ Smart Natural Innovation Platform คือเมืองวัตกรรมอัจฉริยะที่คงความสวยงามของธรรมชาติของผืนป่าวังจันทร์ที่มีอยู่เดิม เนื่องจากพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ติดภูเขา หน้าฝนจะมีน้ำจากภูเขาไหลลงมาตามลำธาร และในยามเช้าจะมีหมอกให้เห็นเป็นประจำ การออกแบบผังเมืองจึงคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันของคน กิจกรรมของคน และธรรมชาติเป็นอย่างมาก

ในส่วนของการคัดเลือกเทคโนโลยี Smart City มาใช้กับเมือง ได้มีการคัดเลือกกันหลายครั้ง เน้นเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการและความคุ้มค่าควบคู่กันไป โครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งานเดือน เม.ย. ปี 2564 และกลายเป็น 1 ใน 5 เมืองอัจฉริยะ เมืองแรกๆ ของประเทศไทย ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์เป็นเมืองอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้านจาก DEPA ได้แก่ Smart Environment, Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy จากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้อยู่อาศัย เพื่อบริหารจัดการเมือง โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งเมืองวังจันทร์วัลเลย์ถือได้ว่ามีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมสรรพครบสมบูรณ์อยู่ภายในเมือง ดังนี้

โดยในช่วงแรกโครงการฯ จะมุ่งเน้นในเรื่อง Smart Environment และ Smart Energy เป็นหลัก ตัวอย่างเทคโนโลยี Smart Environment และมาตรกาต่าง ๆ ที่นำมาใช้และเกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโครงการ เช่น

● เซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ เช่น ตรวจวัดโอโซน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือฝุ่น PM2.5
● EIA ภาคสมัครใจ ถึงแม้หน่วยงานกำกับดูแลจะบอกว่าโครงการเราไม่ต้องทำ แต่เราก็การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจะได้เก็บค่า benchmark ของคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อให้การพัฒนาเมืองส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
● ระบบบริหารจัดการขยะภายในโครงการ ที่มีการติดตามการคัดแยกขยะ และติดตามว่าขยะถูกนำไปจัดการอย่างถูกต้องภายนอกโครงการ
● เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหาร ที่ช่วยลดการกลบฝังขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเศษอาหารเปลี่ยนเป็นปุ๋ยที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
● Clean Energy การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจาก Solar Roof Solar Farm และ Solar Floating พร้อมกับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ วังจันทร์วัลเลย์ยังมี Roadmap เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับแผนของ ปตท. ที่ประกาศว่า จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยสิ่งที่วังจันทร์วัลเลย์ได้เริ่มทำและอยู่ใน Roadmap ยกตัวอย่างเช่น

1) แผนการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด แผนการติดตั้ง และผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดภายในพื้นที่
2) แผนการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว
3) การนำเทคโนโลยีที่สามารถเก็บสะสมพลังงานสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้
4) การนำเทคโนโลยี Energy Trading มาทดลองใช้ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานสามารถซื้อขายพลังงานสะอาดที่เหลือใช้ได้ระหว่างกันในอนาคต

สำหรับเทคโนโลยี Smart Energy เรามีพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัทลูกและหน่วยงานภายใน ปตท. หลายหน่วยงาน ที่ช่วยกันนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาติดตั้งให้ใช้จริง และทดลองใช้อีกมากมาย เช่น

1. Energy Management System
วังจันทร์วัลเลย์มีซอฟต์แวร์ Energy Management System ใช้ในการบริหารจัดการการจ่ายพลังงานในพื้นที่ให้กับลูกบ้านและอาคารต่าง ๆ ภายในวังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งทำหน้าที่ทั้ง Monitor และควบคุมการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งนอกเหนือจากหน้าที่ข้างต้น การที่ใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการ ทำให้เรามี Digital Data ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายไฟ หรือการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการปรับปรุงระบบงานจ่ายไฟให้ดียิ่งขึ้น

2. SCADA
SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) คือ ระบบที่ใช้ควบคุมและสั่งการอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในวังจันทร์วัลเลย์ รวมไปถึงใช้จัดสรรพลังงาน ว่าควรจ่ายไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟหรือครัวเรือนต่าง ๆ อย่างไร ใช้มอร์นิเตอร์ว่า ไฟฟ้าถูกจ่ายไปที่ใด ปริมาณเท่าไร

3. Building Management System
ระบบ Building Management แม้จะหมายถึง ระบบที่ใช้ควบคุมอาคาร แต่ก็เป็นเรื่องของการบริหารและสั่งการอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังเช่นเดียวภัย โดยวังจันทร์วัลเลย์จะใช้ระบบ BMS ในการมอร์นิเตอร์อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ในอาคาร เช่น ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบปรับอากาศในอาคาร ระบบลิฟต์ขนส่ง รวมไปถึงปลั๊กไฟก็สามารถมอร์นิเตอร์ผ่าน BMS ได้เช่นกัน

4. Enlight & Ensight
Enlight & Ensight เป็นระบบ Data Analytics ที่ ปตท. ร่วมกับบริษัท Envision ศึกษา พัฒนา และทดลองแพลตฟอร์มบริหารพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ โดยเทคโนโลยีตัวนี้จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเข้มของแสงในพื้นที่ได้ พร้อมทั้งพยากรณ์โดนเอาข้อมูลจากดาวน์เทียมพยากรณ์อากาศมาประมวลผล ดูว่าภายใน 7 วัน จะสามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้กี่กิโลวัตต์ เพื่อใช้วางแผนการผลิตและจัดสรรพลังงานต่อไป

นอกเหนือจากการพยากรณ์แสงอาทิตย์แล้ว Enlight & Ensight ยังมีความสามารถในการมอร์นิเตอร์สภาพของอุปกรณ์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น มอร์นิเตอร์ได้ว่าแผงโซลาร์แผงใดที่ผลิตกำลังไฟได้น้อยกว่าปกติ พร้อมประเมินว่า ต้องเข้าไปทำความสะอาดหรือเปลี่ยนอุปกรณ์เมื่อใด

5. Augmented Operation System
เทคโนโลยี Augmentation ที่ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ในโลกดิจิทัลบนโลกจริงได้ผ่านอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟน ก็ถูกนำมาประยุกต์ติดตั้งกับอุปกรณ์ไฟฟ้าในโครงการวังจันทร์วัลเลย์เช่นเดียวกัน

Augmented Operation System เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Schneider Electric Thailand ช่วยให้เราสามารถใช้แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนสแกน QR code บนอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อตรวจสอบพารามิเตอร์ได้ทันที โดยไม่ต้องเปิดตู้จ่ายไฟหรือรื้ออุปกรณ์ หรือจะดูข้อมูลผ่านศูนย์ควบคุมในออฟฟิศก็สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเซนเซอร์สำหรับตรวจสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำให้รู้ว่าอุปกรณ์ชิ้นใดกำลังมีปัญหาและต้องเปลี่ยน

6. Solar Roof & Battery
แน่นอนว่า เทคโนโลยีอย่างระบบแผงโซลาร์เซลล์และ Solor Roof (การติดตั้งแผงโซลาร์บนอาคาร) ก็เป็นอีกเทคโนโลยีหลักที่วังจันทร์วัลเลย์ใช้เพื่อผลิตพลังงานสะอาด โดยนอกจากการใช้แผงโซลาร์แล้ว ที่วังจันทร์วัลเลย์ติดตั้งแบตเตอรีสำหรับเก็บสำรองพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหลือจากการใช้งานอีกด้วย โดยจุดประสงค์สำคัญก็เพื่อทดสอบว่า การติดตั้งแบตเตอรีที่มีค่าใช้จ่ายสูง จะคุ้มค่าหรือไม่ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและค่าไฟได้มากน้อยเพียงไร หรือต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรการลงทุนติดตั้งจึงจะคุ้มค่า
การสร้าง Innovation Platform เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในเมืองไทย
เป้าหมายสำคัญของวังจันทร์วัลเลย์ไม่ใช่การเป็น Smart City เมืองต้นแบบของเมืองไทยเท่านั้น แต่เราต้องการสร้างระบบนิเวศน์นวัตกรรมที่เหมาะสมให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับเมืองไทย หลังจากที่ได้เริ่มโครงการมาสักระยะ จึงเริ่มเห็นความจำเป็นของการที่เมืองไทยต้องมีพื้นที่ Regulatory Sandbox เพื่อให้สามารถทดลองทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกกฎหมาย เราจึงได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันวังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่ Sandbox หรือพื้นที่ผ่อนปรนข้อบังคับต่าง ๆ ใน 4 ด้าน ด้วยกัน ได้แก่

1) UAV Regulatory Sandbox แห่งแรงของประเทศ สำหรับการทดลองทดสอบอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน)
2) NBTC Regulatory Sandbox สำหรับการใช้คลื่นความถี่พิเศษเพื่อการทดลองทดสอบนวัตกรรม
3) ERC Sandbox สำหรับการทดลองทดสอบเทคโนโลยีนวัตกรรมการบริหารจัดการรวมถึงการซื้อขายพลังงานระหว่างกัน
4) CAV Sandbox สำหรับการทดสอบทดลองยานยนต์ไร้คนขับภายในพื้นที่โครงการ

ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ Starup หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการจะทดสอบทดลองคอนเซ็ปต์ (Proof of Concept) ไอเดีย หรือเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ สามารถมาทดลองทดสอบภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ได้เต็มที่และถูกกฎหมาย

สำหรับธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือ Startup ที่สนใจเข้าร่วมโครงการวังจันทร์วัลเลย์ ในระยะนี้ แนะนำว่า ควรเป็นธุรกิจหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องหรือมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยเฉพาะด้าน นวัตกรรมการเกษตร เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แบตเตอรีประสิทธิภาพสูง และการขนส่งสมัยใหม่ การบิน และอวกาศ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นด้านที่ภาครัฐมอบหมายให้กับพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ในการผลักดันการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่

วังจันทร์วัลเลย์ในวันนี้ ยังคงเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็น Smart City ต้นแบบของไทย และเป็นแพลตฟอร์มแห่งการคิดค้นสร้างสรรค์ ทดสอบทดลองเทคโนโลยีนวัตกรรมของประเทศ คนไทยจะค่อย ๆ ทยอยเห็น เทคโนโลยีนวัตกรรม ของคนไทยที่พัฒนามาจากวังจันทร์วัลเลย์อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

Related Articles

RECOMMEND