Design and Manufacturing Solutions

Others

05.04.2024

【3D Printing Tech】3D Printing Tech ทางการแพทย์ เครื่องมือยกระดับการรักษาและงานวิจัย

เทคโนโลยี 3D Printing ไม่เพียงสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นพระเอกในด้านการแพทย์อีกด้วย เทคโนโลยี 3D Printing มีบทบาทในทางการแพทย์อย่างไร มีความแตกต่างจากเทคโนโลยี 3D Printing ในสาขาอื่นอย่างไร มาพบคำตอบกันกับ คุณวรวรรธน์ วรรธนะโกวินท์ Managing Director ของ Septillion Co., Ltd. ผู้คว่ำหวอดในวงการ 3D Printing Tech ของไทยมานานกว่า 10 ปี

เทคโนโลยี 3D Printing ในทางการแพทย์
บริษัท Septillion ก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013 ปัจจุบันเปิดให้บริการ 2 สาขา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และชลบุรี ธุรกิจเป็นการจำหน่าย และให้บริการด้าน 3D Printing มาตั้งแต่ต้น เมื่อถามถึงบทบาทของเทคโนโลยีนี้ในวงการแพทย์ ก็ได้รับคำตอบจากคุณวรวรรธน์ ว่า

“ลูกค้าทางด้านการแพทย์ของเรา ส่วนมากเป็นสาขาทันตกรรม มีหลายจุดประสงค์เพื่อนำไปใช้งานในด้านทันตกรรม ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ช่วยผลิต อุปกรณ์จัดฟันใส โมเดลทันตกรรมต่าง ๆ ซึ่งต้องผลิตตามลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล และผลิตเป็นจำนวนมาก เพราะมีทั้งฟันบนฟันล่าง และมีการกำหนดความถี่ของการเปลี่ยน รวมไปถึงสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัย ที่พริ้นต์ตัวอย่างอวัยวะมาใช้สอนนักศึกษา และทีมแพทย์ซึ่งจำเป็นต้องใช้ชิ้นงานมาประชุมวางแผนการรักษา”

พร้อมกันนี้ คุณวรวรรธน์ ยังยกงานวิจัยที่เผยให้เห็นบทบาทของเทคโนโลยี 3D Printing ในภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบ โดยเทคโนโลยี 3D Printing ถูกใช้ในงานด้านวิศวกรรม 40% ทางการแพทย์ 30% และงานด้านศิลปะ 30% นั่นแสดงว่าเทคโนโลยี 3D Printing ถูกใช้ในทางการแพทย์ในอัตราที่สูงเลยทีเดียว

สำหรับรูปแบบที่ 3D Printing เข้ามามีบทบาทอย่างมากในทางการแพทย์ ประกอบด้วย การพริ้นต์เพื่อศึกษาวิจัย ฟันปลอม และอวัยวะเทียม

ทั้งนี้ คุณวรวรรธน์ ได้ยืนยันด้วยประสบการณ์บริการลูกค้าทางการแพทย์ประกอบว่า “ในส่วนของทางการแพทย์ มีพริ้นต์กระดูกเทียม กะโหลกเทียม พริ้นต์ออกมาด้วยไททาเนียม เอาไว้ใช้กรณีผ่าตัดคนไข้กระดูกแตกกะโหลกแตก แล้วต้องทำชิ้นส่วนกะโหลกเทียมขึ้นมาใหม่ครับ”

ด้วยข้อดีของเทคโนโลยี 3D Printing ที่สามารถพริ้นต์ได้หลายมิติ คุณวรวรรธน์ ขยายความให้เห็นภาพ ด้วยการยกตัวอย่าง พริ้นต์โมเดลลูกฟุตบอล ที่มีฟุตบอลลูกเล็กอยู่ข้างในอีกชั้น หากเป็นการขึ้นรูประบบหักลบ ที่นำวัสดุ 1 ชิ้น มาสกัด (คล้ายการแกะสลัก) ก็จะทำไม่ได้ หรือยาก แต่ระบบ 3D Printing สามารถทำได้โดยง่าย เพราะขึ้นรูปทีละชั้น ดังนั้นจึงเหมาะต่อการพริ้นต์อวัยวะเทียม ที่มีความซับซ้อน เช่น กระดูก ที่ไม่ใช่กระดูกตัน ๆ เพราะภายในกระดูกมีช่องว่างภายในอยู่ด้วย

Septillion กับหน้าที่ “ที่ปรึกษา”
คุณวรวรรธน์กล่าวว่านอกจากจำหน่ายเครื่องมือ 3D Printing แล้ว Septillion มีให้คำปรึกษาการใช้งาน และบริการพิมพ์ 3 มิติ เพราะแม้เทคโนโลยีนี้จะมีมานาน แต่เพิ่งแพร่หลาย จึงถือเป็นของใหม่ โดยทั้งนี้ยังมีบทบาทร่วมวิจัยเทคโนโลยี 3D Printing กับ หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมวงการพิมพ์ 3 มิติของประเทศไทย และสอนการใช้งาน รวมทั้งให้คำปรึกษากับองค์กรทางการแพทย์อีกด้วย โดยคุณวรวรรธน์ อธิบายสั้น ๆ ทว่าครอบคลุมดังนี้

“ในไทยเรามีลูกค้าของทางบริษัท ให้บริการด้านการแพทย์อยู่ เพราะว่าเหตุผล คือ แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนออกแบบมา แพทย์มีหน้าที่ผ่าตัด รักษาคนไข้ ส่วนวิศวกรส่วนใหญ่ไม่เคยเรียนออกแบบโครงสร้างมนุษย์ และอวัยวะของมนุษย์มา ลูกค้ารายนี้ก็เลย เป็นการรวมตัวกันระหว่างแพทย์กับวิศวะ ผลิตอวัยวะเทียมจากไททาเนียมร่วมกัน แล้วนอกจากนี้ หลายมหาวิทยาลัยก็เริ่มมีคณะที่เป็น BIO ENGINEERING ออกมาด้วย เป็นกึ่งวิศวะกึ่งแพทย์มารวมกันก็จะมีหลักสูตรใหม่ขึ้นมา”

ความแตกต่างระหว่าง 3D Printing ทางการแพทย์ กับสาขาอื่น
แน่นอนว่าการพริ้นต์อวัยวะเทียมซึ่งต้องใช้กับร่างกายของมนุษย์ จำเป็นต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ข้อนี้ คุณวรวรรธน์ อธิบายว่า

“งานด้านนี้มีสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยามาควบคุมด้วยครับ ไม่ใช่ว่าพริ้นต์ออกมาแล้วใช้ได้เลย ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งหน่วยงานที่กำกับเขาจะตรวจตั้งแต่ซอฟต์แวร์ ว่าถูกต้องหรือไม่ วัสดุที่ใช้ก็ต้องตรวจสอบว่าผลิตมาตอนไหน นัมเบอร์อะไร ตั้งแต่ต้นน้ำเลยครับ อีกทั้งยังต้องทดสอบ และผ่านการฆ่าเชื้อต่าง ๆ เรื่องนี้ต้องถูกต้องตามมาตรฐานต่าง ๆ ดังนั้นปลอดภัยแน่นอน”

คุณวรวรรธน์ เสริมเรื่องข้อดีของเทคโนโลยี 3D Printing ด้านการแพทย์ว่า เมื่อเทคโนโลยีนี้เข้าถึงง่ายขึ้น ประเทศไทยก็สามารถสร้างชิ้นงานให้เหมาะกับสรีระคนไทยได้มากขึ้น

“ในอดีตชิ้นงาน 3D Printing ทางการแพทย์จะมีมาตรฐานค่อนข้างตายตัว เพราะผู้ผลิตจะเป็นทางฝั่งอเมริกา หรือยุโรป ดังนั้นไซส์อวัยวะเทียมขนาดก็จะอ้างอิงกับทางยุโรป เมื่อเอามาใช้กับคนเอเชียอย่างเรา หลายครั้งก็จะมีขนาดใหญ่เกินไป แต่พอเราสร้างชิ้นงานจากเทคโนโลยี 3D Printing ได้เอง ชิ้นงานที่ได้ออกมาก็จะตอบโจทย์มากกว่าครับ”

สรุป
และนี่คือบทบาทของ 3D Printing ทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น มีความสะดวกกว่าในอดีต และเหมาะกับสรีระคนไทยจริง ๆ ในอนาคตจะพัฒนาก้าวกระโดดเพียงใด ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป

*********

 

RECOMMEND