FinTech

Startups

Innovation

Digital

EC, O2O, Omnichannel

Payment, Cashless

Multi-store management

02.02.2022

【FinTech】ใช้งาน FinTech อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ใช้งาน FinTech อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สิ่งที่เห็นได้ชัดในโลกปัจจุบัน คือ ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินถูกทำให้เป็นรูปแบบดิจิทัลได้ทั้งหมด ทั้งการโอนเงิน หรือชำระเงิน จากเดิมการทำธุรกรรมจะต้องใช้เวลามากพอสมควร แต่ทุกวันนี้สามารถจบกระบวนการได้ด้วยเวลาไม่กี่นาที เทคโนโลยีทางการเงินจึงกลายเป็นเครื่องมือหลักสำหรับการพัฒนาธุรกิจ

ในมุมมองของ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บริษัท TARAD.com ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ E-commerce หรือ E-Payment และอีกบทบาทหนึ่งเป็นนักลงทุนด้าน Startup อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ได้ให้มุมมองว่า FinTech เปรียบเสมือนเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การเงินเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

โดย FinTech เกิดจาก 2 คำมารวมกัน ซึ่ง Fin คือ Financial ส่วน Tech คือ Technology จึงกลายเป็นการเงินที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ในอดีตเราอาจจะนึกถึงการเงินในรูปแบบการให้บริการจากธนาคาร แต่ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีกับการเงินรวมเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ธุรกรรมทางการเงินรวดเร็วขึ้น

รูปแบบของ FinTech

คุณภาวุธ กล่าวว่า FinTech ได้กลายเป็นสิ่งที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีทั้งหมด 7 รูปแบบ ประกอบด้วย

1.FinTech ในรูปแบบธนาคาร (Banking) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี เช่น การฝากเงิน ถอนเงิน กู้เงิน หรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ของธนาคาร

2. FinTech ในรูปแบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) เป็นการกู้เงินรูปแบบใหม่ที่ระดมทุนจากคนหมู่มาก ทำให้ผู้กู้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนก้อนใหญ่ได้ ซึ่งในประเทศไทยมี Crowdfunding หลายแห่ง เช่น เพียร์ พาวเวอร์ (PeerPower) แพลตฟอร์มหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงที่เชื่อมต่อผู้ประกอบการและนักลงทุนเข้าด้วยกัน

3. คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงที่มูลค่าของเงินถดถอย โดย Cryptocurrency จะมีบทบาทอย่างมากในโลกของ FinTech เพราะจะถูกนำมาใช้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น ปัจจุบันมี Decentralized Finance (DeFi) หรือแม้กระทั่งการนำ Cryptocurrency มาใช้ในอุตสาหกรรมเกม หรือ GameFi

4. FinTech ด้านการชำระเงิน หรือ Payment Technology โดยปัจจุบัน FinTech ประเภทนี้ทำให้มีช่องทางการจ่ายเงินที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การโอนเงินผ่าน PromptPay หรือการชำระเงินผ่าน Wallet ต่าง ๆ

5. ซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนการจัดการด้านการเงิน (Enterprise Financial Software) จากเดิมเราอาจจะต้องจัดทำรายงาน หรือวางแผนจัดการด้านการเงินด้วยรูปแบบเดิม แต่ปัจจุบันการทำธุรกรรมการเงินมี Software เข้ามาช่วย ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มบัญชีที่ช่วยให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการด้านการเงินได้ง่ายมากขึ้น

6. การบริหารจัดการด้านการลงทุน (Investment Management) โดยการเติบโตของอุตสาหกรรม FinTech ทำให้มีการบริหารจัดการด้านแหล่งเงินทุนหลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มอย่าง Finnomena หรือ Jitta Wealth รวมถึง Odini ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการบริหารด้านการลงทุนอย่างครบวงจร ที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการพอร์ตกองทุนรวมให้กับผู้ใช้ และยังสามารถตรวจสอบผลตอบแทนจากการลงทุนได้ทันที

7. FinTech ด้านประกันภัย (Insurance Technology) โดยการทำประกันในรูปแบบเดิมนั้น ผู้ซื้อประกันและตัวแทนขายประกันจะต้องพบปะพูดคุยและทำสัญญาผ่านกระดาษ แต่ปัจจุบัน FinTech เปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นดิจิทัล ส่งผลให้บริษัทประกันภัยสามารถปิดการขาย และให้ความคุ้มครองลูกค้าได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

บทบาทของ FinTech ในประเทศไทย

คุณภาวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันมี FinTech จากต่างประเทศเข้ามาให้บริการในประเทศไทยจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น การใช้บริการ Line แอปพลิเคชัน ที่เปิดให้ผู้ใช้งานซื้อสติกเกอร์ผ่าน Line pay หรือแม้กระทั่งการซื้อสินค้าผ่านทาง Ebay ที่ต้องชำระเงินผ่าน PayPal ซึ่งเบื้องหลังคือ FinTech ประเภทหนึ่ง

ขณะที่ภาพรวม FinTech ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก จากเดิมธุรกิจด้าน FinTech จะมีเพียงสถาบันการเงินเป็นผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ปัจจุบันมี Startup ใหม่ ๆ เข้ามาทำให้ตลาดเติบโตขึ้น ซึ่งธนาคารเองต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับ FinTech

นอกจากนี้ รัฐบาลก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน เพราะสถานการณ์ COVID-19 ทำให้จำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านช่องทางดิจิทัล โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้สร้าง FinTech ของตัวเองคือ แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง ทำให้เห็นว่า FinTech กลายเป็นเครื่องมือหลักที่รัฐบาลนำมาใช้ และในอนาคตจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับโลก

FinTech กับการนำไปใช้ในธุรกิจ

คุณภาวุธ กล่าวว่า ทุกอุตสาหกรรมสามารถนำ FinTech ไปใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจได้ เพราะธุรกรรมทางการเงิน เช่น การบริหารกระแสเงินสด การตรวจสอบเงิน หรือการปล่อยสินเชื่อ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจ

“FinTech ช่วยให้การบริการจัดการง่ายขึ้น จากเดิมหากผู้บริหารต้องการตรวจสอบงบการเงินของบริษัทอาจจะต้องรอฝ่ายบัญชีเก็บข้อมูลซึ่งอาจจะล่าช้า แต่ปัจจุบันสามารถใช้เครื่องมือ FinTech เพื่อตรวจสอบข้อมูลได้ทันที จึงนำมาสู่การตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น และผลลัพท์จะตามมาด้วยรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีความต้องการ FinTech แตกต่างกันออกไป เช่น บริษัท SME จะมีความต้องการเรื่องของแหล่งเงินทุน ซึ่งการให้บริการสินเชื่อแบบเดิม ๆ จะต้องกู้เงินกับทางธนาคาร แต่ปัจจุบันมีแหล่งเงินกู้ผ่าน Crowdfunding แม้กระทั่งการกู้เงินส่วนบุคคล ปัจจุบันก็สามารถกู้ได้จาก Line Bk หรือแอปพลิเคชันฟินนิกซ์ (FINNIX) สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ FinTech ก็เข้ามาเป็นตัวช่วยได้ดี เช่น แพลตฟอร์มที่ชื่อว่า E-Factoring ซึ่งช่วยให้ธุรกิจได้รับสินเชื่อจากใบเสร็จได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเราขายของให้กับลูกค้าและได้รับใบเสร็จ เราสามารถนำใบเสร็จมาเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ โดยการนำใบเสร็จอัปโหลดขึ้นในแพลตฟอร์มเพื่อทำการวิเคราะห์วงเงินสินเชื่อจาก Credit Score และสามารถอนุมัติวงเงินได้เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากการขอสินเชื่อจากใบเสร็จรูปแบบเดิม ที่จะต้องนำใบเสร็จไปขอกับทางธนาคารด้วยตัวเอง และมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ส่งผลให้การขอสินเชื่อต้องใช้เวลานานกว่า

“ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ FinTech ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อทุกธุรกิจในประเทศไทยมีการใช้ FinTech อย่างแพร่หลาย สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเศรษฐกิจในประเทศก็จะดีขึ้นเช่นเดียวกัน”

FinTech สามารถใช้ในธุรกิจได้อย่างครบวงจร

คุณภาวุธ ได้ยกตัวอย่างการนำ FinTech มาใช้ในธุรกิจอย่างครบวงจรจากประสบการณ์ของตัวเอง คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับวิตามินบำรุงเส้นผม ซึ่งได้นำ FinTech มาใช้ตั้งแต่การหาแหล่งเงินทุนจากคราวด์ฟันดิง ที่มีความสะดวกรวดเร็วกว่าการหาแหล่งเงินทุนรูปแบบเดิมที่จะต้องกู้เงินจากธนาคารเท่านั้น ซึ่งรูปแบบการกู้เงินธนาคารอาจจะต้องใช้สินทรัพย์เพื่อค้ำประกัน และล่าช้า แต่เมื่อใช้คราวด์ฟันดิงก็ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ และป้อนข้อมูลบริษัทและงบการเงินเข้าไปได้ทันที หลังจากนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงธุรกิจก็ได้รับการอนุมัติเงินก้อนและนำมาดำเนินธุรกิจอย่างรวดเร็ว

หลังจากที่ได้รับเงินทุนมาเพื่อดำเนินธุรกิจเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเป็นการใช้งาน FinTech กับระบบบัญชี ซึ่งบริษัทของคุณภาวุธได้ใช้แพลตฟอร์มบัญชีอัตโนมัติ PEAK Engine ที่สามารถสรุปข้อมูลบัญชีได้อัตโนมัติ ทำให้ได้รับข้อมูลทางการเงินที่แม่นยำและรวดเร็วขึ้น

และบริษัทของคุณภาวุธ ยังใช้แพลตฟอร์มสำหรับการเบิกจ่ายที่ชื่อว่า E-Signature สำหรับการเซ็นเอกสารออนไลน์ ซึ่งสามารถยืนยันตัวเจ้าของลายมือชื่อได้ และการเซ็นเอกสารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มนี้มีผลทางกฎหมายไม่ต่างกับการเซ็นเอกสารรูปแบบเดิม อีกทั้งยังได้นำระบบยืนยันตัวตนลูกค้าออนไลน์มาใช้ด้วยระบบ E-KYC ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูล และระบุตัวตนของลูกค้าได้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ เพิ่มความปลอดภัยให้กับการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ คุณภาวุธยังได้ใช้ FinTech สำหรับการชำระเงินออนไลน์อย่างแพลตฟอร์ม Pay Solutions ซึ่งสามารถรองรับบริการซื้อขายสินค้าออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ และยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มให้ลูกค้าสามารถชำระสินค้าผ่าน Cryptocurrency ได้อีกด้วย

นี่คือตัวอย่างของการใช้ FinTech อย่างครบวงจรตั้งแต่เริ่มต้นไปจนจบกระบวนการ แสดงให้เห็นแล้วว่า FinTech สามารถใช้ได้ในทุกธุรกิจและทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ

จะเริ่มต้นนำ FinTech มาใช้กับธุรกิจอย่างไร?

อนาคตของ FinTech ในประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้เห็นการเติบโตสูงและรวดเร็ว เพราะเศรษฐกิจของไทยกำลังเข้าสู่ดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกธุรกิจจึงต้องการซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารธุรกิจให้เติบโตขึ้น

ดังนั้นผู้ประกอบการที่จะนำ FinTech มาใช้กับธุรกิจจะต้องทำความเข้าใจ และศึกษาเครื่องไม้เครื่องมือด้าน FinTech ให้มากขึ้น รวมถึงก้าวผ่านข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง เพราะการทำธุรกิจนั้นจะมีบางส่วนงานที่อาจจะไม่ถนัด หรืออาจจะเป็นลักษณะงานที่ห่างไกลกับเรื่องของ Technology มาก จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องทำให้ข้อจำกัด หรือช่องว่างระหว่างคนในองค์กรกับ Technology แคบลง

สำหรับผู้ประกอบการที่กังวลเรื่องของการนำข้อมูลบริษัทเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลเพราะกลัวการรั่วไหลของข้อมูล ต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่เพราะ FinTech อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ธปท. ก.ล.ต. และ ปปง. ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ทันสมัย และรองรับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการจัดการด้านภาษี ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยให้ธุรกิจบริหารการเสียภาษีที่ดีและโปร่งใส เช่น แพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Tax planning

สุดท้ายนี้ผู้ประกอบการต้องย้อนกลับมามององค์กรของตัวเอง หากพบว่าองค์กรของเรายังใช้อะไรที่เป็นรูปแบบเดิม ๆ ควรเร่งปรับตัว ซึ่งสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับ FinTech ที่ต้องการได้ในอินเตอร์เน็ต หรืออาจจะเริ่มศึกษาคู่แข่งว่ามีการใช้เทคโนโลยี FinTech อย่างไรบ้าง และนำมาพัฒนาองค์กรของตัวเองให้ดีขึ้น

บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรู้ด้านเทคโนโลยี FinTech เท่านั้น หากสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ FinTech เพิ่มเติม สามารถเข้าชม VDO บรรยายตัวเต็มจาก คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ได้โดยคลิกที่ Link นี้

SHOW CASE

Related Articles

RECOMMEND